แนวโน้มเงินบาทสัปดาห์นี้ เคลื่อนไหวในกรอบ 33.20-34.00 บาทต่อดอลลาร์ จากทยอยกลับแข็งค่า แรงหนุนทองคำในตลาดโลก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาท อ่อนค่าลงช่วงสั้น ๆ ต้นสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางเงินหยวนและสกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากสัญญาณของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งสะท้อนท่าทีระมัดระวังต่อแรงกดดันเงินเฟ้อและอาจไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในอนาคตอันใกล้นี้ อย่างไรก็ดีเงินบาทฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าในช่วงที่เหลือของสัปดาห์สอดคล้องกับค่าเงินเยน (ที่มีแรงหนุนในช่วงแรกจากการคาดการณ์ว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย) และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก (ซึ่งยังได้รับอานิสงส์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความกังวลต่อผลกระทบจากมาตรการภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ และประเด็นสงครามการค้า)

ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ ยังคงถูกกดดันหลังจากบันทึกการประชุมเฟดระบุว่า เฟดมีการหารือกันเกี่ยวกับแนวโน้มการชะลอการปรับลดงบดุลของเฟด ประกอบกับเครื่องชี้ตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด [จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 5,000 ราย ไปที่ 219,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ตลาดคาดที่ 215,000 ราย] นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังขาดแรงหนุนใหม่ๆ เพิ่มเติม หลังตลาดรับรู้การเตรียมปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และยาของสหรัฐฯ ไปแล้วบางส่วน

เมื่อวันศุกร์ที่ 21 ก.พ. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.62 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (14 ก.พ.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 17-21 ก.พ. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 2,177 ล้านบาท แต่ขายสุทธิพันธบัตรไทย 2,463 ล้านบาท

ส่วนในสัปดาห์นี้(24-28 ก.พ. 2568) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.20-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. (26 ก.พ.) ตัวเลขการส่งออกเดือนม.ค. ของไทย สัญญาณและรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการทางภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และทิศทางฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา PCE/Core PCE เดือนม.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2567 (Prelim.) รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค. ของยูโรโซนและผลการประชุมธนาคารกลางเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles