แบงก์ชาติ ยันกรอบเงินเฟ้อ 1-3% สอดคล้องกับกระทรวงการคลัง ย้ำยังเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุน 

นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)หรือ แบงก์ชาติ เปิดเผยว่า จากการหารือเรื่องกรอบนโยบายการเงิน ปี 68 (กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ) ระหว่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการ ธปท. เมื่อวานนี้ (29 ต.ค.) ทั้งกระทรวงการคลัง และ ธปท. ต่างมีความเห็นร่วมกันว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% ในปัจจุบันเป็นระดับที่เหมาะสม และมีเป้าหมายร่วมกันที่จะให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามศักยภาพ และมีการลงทุนเพิ่มขึ้น

การดำเนินการเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายร่วมกันนั้น หน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คือ การดูแลภาวะเศรษฐกิจการเงินให้เหมาะสม และเอื้ออำนวยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ โดยการใช้เครื่องมือแบบผสมผสานตามที่ได้ใช้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย การดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวนเกินไป มาตรการทางการเงินในการแก้หนี้ ซึ่งเป็น Policy package ที่สร้างสภาวะแวดล้อม และบรรยากาศทางการเงินที่เอื้ออำนวยต่อการให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพ

นอกจากนี้ ทั้งกระทรวงการคลัง และ ธปท. ยังเห็นพ้องกันว่าไม่ต้องการเห็นภาวะเงินฝืด หรือการที่เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุมาจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งในกรณีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำที่ไม่พึงประสงค์นั้น ยังไม่ได้เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบัน และยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

ถ้าเศรษฐกิจจะฟื้นขึ้น ขยายตัวเร็วขึ้น และเงินเฟ้อจะสูงขึ้น อยู่ภายในกรอบ 1-3% ก็เป็นสิ่งที่ควรจะเป็น เป็นธรรมชาติของเศรษฐกิจที่อุสงค์เพิ่มขึ้น ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ปัจจัยอุปทาน ปัจจัยเชิงโครงสร้าง ไม่ได้หน่วงจนเงินเฟ้อต่ำ ทุกฝ่ายก็เห็นด้วยกันว่าเงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบ เป็นสิ่งที่ดี และหากเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น เพราะเศรษฐกิจโตขึ้น ก็ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด

เพราะตราบใดที่เงินเฟ้ออยู่ในโซนที่ต่ำแต่ไม่สร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจ กรอบเงินเฟ้อที่ 1-3% ก็ยังเป็นกรอบที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจแบบเรา และเอื้อต่อการที่เศรษฐกิจจะขยายตัว ในเมื่อเงินเฟ้อมาจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมค่อนข้างเยอะ ความผันผวนของเงินเฟ้อ 90% มาจากหมวดพลังงาน อาหารสด อยู่นอกเหนือการควบคุม เราไม่อยากปรับนโยบายขึ้นๆ ลง ๆ สร้างความผันผวนและซ้ำเติมความไม่แน่นอนให้เศรษฐกิจ ส่วนกระบวนการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อร่วมกันของกระทรวงการคลังและธปท.นั้น ยังคงเดินไปตามกระบวนการปกติที่ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งไปตามปกติที่จะต้องนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ เพื่อกำหนดเป็นเป้าหมายนโยบายการเงินในปี 2568 ต่อไป

ขณะที่กรณีที่กระทรวงการคลัง เสนอให้ ธปท.เพิ่มการดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน มารวมอยู่ในการพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงินด้วยนั้น มองว่าเรื่องค่าเงิน ไม่ได้เป็นเป้าหมายขั้นสูงสุด แต่เป็นเพียงตัวแปรหรือองค์ประกอบที่สำคัญตัวหนึ่งของภาวะการเงิน ที่จะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดในเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบเป้าหมาย ซึ่ง ธปท. ดูแล และติดตามอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องความผันผวนที่หากเกินเลยไปจากปัจจัยพื้นฐาน

“เมื่อกรอบใหญ่ 1-3% เป็นแนวทางต่อไปที่เห็นร่วมกันนั้น จะเป็น 2% จะ 2.5% หรือ 1.5% ยังอยู่ในกรอบทั้งนั้น ประเด็นที่เราถกกันมากกว่า คือ เงินเฟ้อมีไว้เพื่อเอื้อให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดี เศรษฐกิจไปได้เต็มศักยภาพ แน่นอนว่าถ้าเงินเฟ้อสูง 7-8% หรือผันผวนสูง เศรษฐกิจก็ไม่สามารถไปได้ตามศักยภาพ หรือถ้าเกิดภาวะเงินฝืด เงินเฟ้อติดลบอย่างกว้างขวางในระยะยาวนาน ก็ไม่ส่งเสริมต่อการที่เศรษฐกิจจะโตตามศักยภาพ”

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles