นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ เปิดเผยว่า หนี้เสียของธุรกิจขนาดเอสเอ็มอี SME พุ่งสูงขึ้นมาแตะระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 สำหรับยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือหนี้เสีย (NPL) ในไตรมาส 1 ปี 2568 เพิ่มขึ้นมาอยู่แตะระดับ 548,000 ล้านบาท ส่งผลหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.9%
สาเหตุหลักมาจากสินเชื่อธุรกิจขนาดเอสเอ็มอี SMEs และสินเชื่อที่อยู่อาศัย เมื่อแยกตามขนาดธุรกิจจะพบหนี้เสียของสินเชื่อธุรกิจวงเงินน้อยกว่าหรือเท่ากับ 500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 7.35% ของสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี SME ทั้งระบบ ทำสถิติสัดส่วนหนี้เสียในระดับสูงกว่าเมื่อก่อนปี 2019 เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีวงเงินสินเชื่อมากกว่า 500 ล้านบาท กลับทีสัดส่วนหนี้เสียทรงตัวที่ 1.01% ของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหมด
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน แบงก์ชาติ เปิดเผยต่อไปว่า เมื่อแยกตามประเภทสินเชื่ออุปโภคบริโภค พบว่า สัดส่วนหนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงต่อเนื่องขึ้นมาอยู่ที่ 4.10% ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบ ที่สำคัญ เป็นสัดส่วนสูงสุดเมื่อเทียบกับพอร์ตสินเชื่ออุปโภคบริโภคประเภทอื่นๆ รองลงมา คือ หนี้เสียสินเชื่อบัตรเครดิตที่ 3.35% หนี้เสียสินเชื่อส่วนบุคคลที่ 2.95% และหนี้เสียของสินเชื่อเช่าซื้อแตะที่ 2.20%
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ประเมินว่า สำหรับภาวะหนี้เสียในระยะต่อไปนั้น ข้อมูลแนวโน้มพบว่า ยังมีน่าความกังวลจากปัจจัยความไม่แน่นอด้านนโยบายการค้าสหรัฐฯ หากการส่งออกได้รับผลกระทบ มีการปลดพนักงาน ก็จะเพิ่มความกังวลต่อภาวะหนี้เสีย ดังนั้นจึงต้องรอดูผลการเจรจาภาษีซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่อีกที