แบงก์ชาติมองส่งออกไทยครึ่งปีหลังดิ่งแรงถึง -4% แถมส่งออกไทยทรุดต่อถึงปี 69 ทั้งปีหน้าดิ่ง -2%

แบงก์ชาติมอง ส่งออก ไทยครึ่งปีหลังดิ่งแรงถึง -4% แถมส่งออกไทยทรุดต่อถึงปี 69 ทั้งปีหน้าดิ่ง -2%

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยยายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ เปิดเผยว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังคงมีความท้าทายหลายด้าน ทั้งมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯที่กระทบการส่งออกและการลงทุน จึงคาดว่าภาคการส่งออกครึ่งหลังของไทยปี 2568 จะติดลบ 4% และติดลบต่อเนื่องไปจนถึงปี 2569 ที่จะติดลบ 2% ภาคการท่องเที่ยวจะเติบโตช้ากว่าที่คาด ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้จะกระทบกับการบริโภคไปจนถึงปี 2569 ขณะที่ด้านนโยบายทางการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ย คาดว่าควรจะผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงินจึงพร้อมที่จะปรับนโยบายเพิ่มเติมหากมีความเสี่ยงชัดเจนเพิ่มสูงขึ้น

เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แบงก์ชาติ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ส่งหนังสือไปยังรัฐบาลเกี่ยวกับมาตรการที่ควรให้ความสำคัญทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรับมือกับผลกระทบการขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐ ทั้ง 2 สถาบันเห็นตรงกันว่า ต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าต่างประเทศทะลักเข้าไทย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นรายย่อย SMEs ที่มีสัดส่วนการจ้างงานจำนวนมาก โดยให้ความสำคัญกับมาตรฐานการนำเข้าสินค้า การทุ่มตลาด แพลตฟอร์มการนำเข้าสินค้า ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้นที่ต้องเร่งดำเนินการ รวมไปถึงทำให้ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพแข่งขันได้เท่าเทียมกับผู้ประกอบการต่างประเทศด้วย

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากตัวเลขการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 68 และปี 69 เมื่อเทียบขยายตัวแบบไตรมาสต่อไตรมาสจะอยู่ที่ 0.1% นั้น สะท้อนถึงการเติบโตค่อนข้างต่ำ โอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิคได้หรือไม่นั้น ยอมรับว่ามี

โอกาสจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยนั้นจะต้องเป็นช็อกที่รุนแรงและมีขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากข้างนอก เช่น วิกฤติการเงิน สิ่งที่แบงก์ชาติมอง และสำนักวิจัยต่างๆ ที่มอง ก็ไม่ได้คิดว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย

สำหรับโอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย คือ เศรษฐกิจต้องติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส ในอดีตผ่านมา เศรษฐกิจไทยเคยเกิดถดถอย 4 ครั้ง คือ ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ช่วงวิกฤติการเงินโลก ช่วงการชุมนุมประท้วงใหญ่ปี 53 และช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิด

ทั้งนี้ นายสักกะภพ กล่าวว่า ประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองนั้น แบงก์ชาติติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะที่ผ่านมาปัจจัยทางการเมืองมีผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า ซึ่งจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ จึงเป็นหนึ่งในความเสี่ยง

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles