นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพนโยบาย ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ กล่าวว่า ตัวเลขอัตราภาษีสหรัฐจะออกมาเท่าไรนั้น ไม่สำคัญมาก แต่มองว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังนี้ไม่ดี และแผ่วลง ส่วนจีดีพีปี 69 มองที่ 1.7% ชะลอลงพอสมควร และขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ สาเหตุจากมีช็อกที่กินเวลานานเข้ามากระทบ เราไม่ตกเหวปีนี้ แต่ตกปีหน้า การลดดอกเบี้ยของแบงก์ชาติอาจจะช่วยลดภาระหนี้ได้บ้าง แต่ไม่ได้เกิดการขอสินเชื่อใหม่ เนื่องจากความต้องการลดลง จึงต้องชั่งน้ำหนัก ช่องว่างของการใช้เครื่องมือดอกเบี้ยเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเศรษฐกิจเข้าสู่ช็อกที่มีเยอะขึ้น การทำให้เศรษฐกิจมีความทนทานและยืดหยุ่น น่าจะดีกว่า
เมื่อมองไปข้างหน้ากับสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง และอาจจะเกิดช็อกได้ ดังนั้น จุดยืนนโยบายการเงินผ่อนคลาย หรือการลดดอกเบี้ยของแบงก์ชาติเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสม ในช่วงที่ผ่านมามีการปรับลดดอกเบี้ยลง 3 ครั้ง สามารถรองรับความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง แต่ในอนาคต แบงก์ชาติพร้อมจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
สำหรับสถานการณ์สหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ มองว่าผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐที่มีต่อเศรษฐกิจไทยจะไม่รุนแรงเท่ากับผลกระทบจากช่วงวิกฤติการเงินโลกในปี 2008 หรือเท่ากับยุคของโรคโควิด-19 แม้ว่าผลกระทบจากแต่ละเหตุการณ์เป็นช็อกใหญ่ของโลกเหมือนกัน แต่มีระยะเวลาของความรุนแรงแตกต่างกัน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากนโยบายภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐจะมีผลในระยะยาวต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก
สถานการณ์ช็อกจากการเก็บภาษีสินค้านำเข้าแตกต่างกันกับสถานการณ์ช็อกในรอบการระบาดของโควิด-19 และวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์มีความรุนแรงระยะสั้น และเป็นหลุมดิ่งลง ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจทุกอย่างชะงักงั้น แต่สถานการณ์ช็อกจากเรื่องภาษีสหรัฐครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันที เพราะมีการพูดถึงและรับรู้มาสักระยะแล้ว แต่ผลกระทบจะกินเวลานานไปถึงปี 2569
ด้านภาวะเงินเฟ้อของไทยที่อยู่ในระดับต่ำในปัจจุบันนั้น ไม่ได้สะท้อนว่าจะเกิดภาวะเงินฝืด ปัจจัยหลักเป็นผลจากราคาพลังงานโลก และราคาสินค้าอาหารสดปรับตัวลดลง แต่ยังไม่มีภาวะที่ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายเพื่อรอไปบริโภคในวันข้างหน้าจากความคาดหวังที่ว่าราคาสินค้าในอนาคตจะลดลง ซึ่งไม่ได้เป็นแบบนั้น อัตราเงินเฟ้อไทยสะท้อนราคาพลังงานโลกและอาหารสด ทั้ง 2 หมวดนี้ไม่ได้แพร่กระจายไปสินค้าในส่วนอื่น ๆ ไทยจึงยังไม่มีภาวะเงินฝืด แต่ตรงกันข้าม เงินเฟ้อต่ำที่สะท้อนจากราคาพลังงานที่ถูกลงนั้น อาจจะช่วยเรื่องต้นทุนภาคการผลิตได้มากกว่า ช่วยรองรับกับปัจจัยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐ