นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า เกี่ยวกับยอดปิดโรงงานในประเทศไทยนั้น ควรมองให้ครบรอบด้าน ทั้งการเปิดและปิดกิจการ ช่วงที่ผ่านมาก็สะท้อนการเปิดมากกว่าปิดโรงงาน ซึ่งเป็นกลไกเศรษฐกิจ การย้ายโรงงานก็อาจจะเพื่อไปหาที่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การเทิร์นโอเวอร์มีขึ้น อย่างไรก็ดี มองว่าตอนนี้ยังไม่ได้เป็นประเด็นปัญหาในภาพใหญ่ของการปิดโรงงาน
หากดูตัวเลขปิดกิจการ พบว่าลดลงกว่าในช่วงที่ผ่านมา อัตราการเปิดธุรกิจสูงกว่า หากเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน การเปิดกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 8% และยังมีจำนวนพนักงานจ้างใหม่มากกว่าพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง เม็ดเงินการลงทุนยังคงเป็นบวกอยู่
ขณะที่เมื่อวานนี้ สำนักวิจัย KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ ซึ่งสะท้อนจากทั้งดัชนีการผลิตที่หดตัวลงติดต่อกันเกินกว่า 1 ปี ยอดปิดโรงงานที่เพิ่มขึ้น และหนี้เสียในภาคการผลิตที่กำลังเร่งตัว แม้ว่ายอดเปิดโรงงานจะยังเยอะกว่ายอดปิดโรงงานในภาพรวม แต่สถานการณ์มีความแตกต่างกันในแต่ละภาคการผลิต
สำนักวิจัย KKP Research เปิดเผยต่อสัญญาณไปว่า สัญญาณถัดมาที่น่ากังวลกว่านั้น คือ ข้อมูลการปิดโรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เร่งตัวขึ้นชัดเจนตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2023 โดยค่าเฉลี่ยการปิดโรงงานของไทยอยู่ที่ 57 โรงงานต่อเดือนในปี 2021 และ 83 โรงงานต่อเดือนในปี 2022 ในขณะที่พุ่งสูงขึ้นถึง 159 โรงงานต่อเดือนในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 ส่งผลให้หากนับรวมตั้งแต่ต้นปี 2023 มาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2024 มีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง กระทบการจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง
ไม่ใช่แค่โรงงานปิด แต่โรงงานเปิดใหม่ก็ลดลงเช่นกัน การปิดตัวของโรงงานเพียงอย่างเดียวอาจไม่สะท้อนภาพทั้งหมด แต่ตัวเลขการเปิดตัวโรงงานใหม่ที่ลดลงกว่าในอดีตยังย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมไทยที่ไม่ดีนัก เพราะการเปิดโรงงานใหม่มีทิศทางที่ชะลอตัวลงเช่นกัน จึงทำให้ยอดการเปิดโรงงานสุทธิ (จำนวนโรงงานเปิดหักลบด้วยโรงงานปิด) ในภาพรวมชะลอตัวลงอย่างมาก จากค่าเฉลี่ยที่เป็นบวกสุทธิประมาณ 150 โรงงานต่อเดือน ลดลงเหลือเพียง 50 โรงงานต่อเดือน หรือกว่า -66%