น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1 ปี 2567 กลับมาขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน จากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอาหาร ปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลงในเกือบทุกพอร์ต ยกเว้นสินเชื่อรถยนต์ที่ยังคงหดตัว
ทั้งนี้ ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing loan: NPL หรือ stage 3) ไตรมาส 1 ปี 2567 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 502.6 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.74% เพิ่มขึ้นโดยหลักจากสินเชื่อธุรกิจ (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพ) และสินเชื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ยังบริหารจัดการคุณภาพหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม อยู่ที่ 6.13% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยส่วนหนึ่งเป็นลูกหนี้ที่ยังชำระหนี้ได้ตามสัญญา แต่ถูกจัดชั้นเชิงคุณภาพ
ส่วนผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยหลักจากค่าใช้จ่ายดำเนินงาน และค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลง ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงจากต้นทุนเงินรับฝากที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ Net Interest Margin (NIM) ของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับลดลง
อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ธุรกิจ SMEs ขนาดเล็ก และครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งคาดว่าจะยังส่งผลให้ NPL ทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ และไม่เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (NPL cliff) โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ 91.3% ต่อ GDP ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 3/2566 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 90.9% ต่อ GDP ซึ่งยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนที่ด้อยลง โดยเฉพาะครัวเรือนเปราะบาง ที่รายได้ฟื้นตัวช้า
ขณะที่ภาคธุรกิจ มีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ทรงตัวจากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว และการก่อหนี้ที่กลับมาเร่งขึ้นเล็กน้อย ด้านความสามารถในการทำกำไรโดยรวมยังคงปรับดีขึ้นจากปีก่อน แต่ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า จากภาคการผลิต และการส่งออกที่ชะลอลง ขณะที่ภาคบริการบางกลุ่ม ยังเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง