นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายผู้บริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีนและวาเลนไทน์ ในปี 2567 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,300 ตัวอย่างทั่วประเทศ วันที่ 25-31 มกราคม 2567 ว่า สำหรับช่วงเทศกาลตรุษจีนมีความคึกคักกว่าปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด โดยมีมูลค่าสูงถึง 4.95 หมื่นล้านบาท และมีอัตราการขยายตัว 10.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ปี 2556 เนื่องจากฐานที่ต่ำในช่วงที่มีโควิดปี 2564-2566
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่าง 57.2% จะไหว้เจ้าและบรรพบุรุษ และอีก 42.8% ไม่ไหว้ จากปี 2566 ที่ตอบจะไหว้เจ้าตอบ 45.0% รวมถึงยังมีการวางแผนท่องเที่ยวมากขึ้น โดยมีผู้ตอบถึง 55.7% ส่วนใหญ่เที่ยวในประเทศ และไม่ไป 44.3% เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ตอบไปเที่ยวเพียง 29.7% และไม่ไปสูงถึง 70.3%
สำหรับการใช้จ่ายส่วนใหญ่จะหมดไปกับการซื้อของเซ่นไหว้ ทำบุญ เที่ยวในประเทศ แต๊ะเอีย ไปทานข้าว-สังสรรค์ ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค-เสื้อผ้า-สินค้าฟุ่มเฟือย-สินค้าคงทน และเครื่องประดับ
ส่วนกลุ่มตัวอย่าง 40.3% บอกว่า ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น แก้ชง ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐ รายได้เพิ่ม ธุรกิจได้กำไรมากขึ้น และได้โบนัสมากขึ้น ส่วน 33.7% บอกใช้จ่ายลดลง เพราะลดค่าใช้จ่าย รายได้ลด มีหนี้มากขึ้น เศรษฐกิจแย่ลง ตกงาน เสถียรภาพทางการเมือง ภัยธรรมชาติ และอีก 26.0% ใช้จ่ายเท่าเดิม โดยเน้นซื้อของจำเป็น ลดจำนวนชิ้น ลดคุณภาพ ใช้ของเหลือจากปีก่อน ส่วนเงินแต๊ะเอีย ส่วนใหญ่ยังคงให้แต๊ะเอียเหมือนเดิม แม้เศราฐกิจจะยังฟื้นไม่เต็มที่
“ดังนั้น เป็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นหลังจากโควิด แต่คนยังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่โดดเด่น รวมไปถึงราคาสินค้าเพิ่มขึ้น จึงมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยที่มีความระมัดระวัง ทำให้การขยายตัวยังน้อยกว่าในช่วงก่อนมีการแพร่ระบาดของโควิด คือ ปี 2558- 2563 มีการใช้จ่ายอยู่ 5-5.8 หมื่นล้านบาทต่อปี และยังเป็นช่วงที่มีการใช้สูงสุดเป็นอันดับสาม รองมาจ่าย เทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์” นายธนวรรธน์ กล่าว