นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี นายกสมาคม โรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2565-2566 สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ปรับลดงบประมาณค่ารักษาพยาบาลในกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงลดลงถึง 40% จากเดิม 12,000 บาทต่อหน่วย Adjusted RW (ค่าน้ำหนักสัมพัทธ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมด้วยเกณฑ์วันนอน) มาเหลือเพียง 7,200 บาทต่อหน่วยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทั้ง 2 ปี ทำให้โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับประกันสังคมต้องเผชิญกับภาวะขาดทุน
สาเหตุจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้จ่ายไปล่วงหน้าแล้ว นอกจากนี้ ภาษีที่ต้องจ่ายตามประมาณการรายได้ ทำให้การปรับลดงบนี้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสถานะการเงินของโรงพยาบาล
แม้ในปี 2565 สปส.จะปรับเพิ่มค่าหัวเหมาจ่ายจาก 1,640 บาท เป็น 1,808 บาท แต่สำหรับกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงและโรคเรื้อรังกลับไม่มีการปรับเพิ่มค่าตอบแทนมาเป็นเวลา 5 ปี ดังนั้น จึงส่งผลให้จำนวนโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมกับระบบประกันสังคมลดลงอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลย้อนหลังไปในช่วง 10 ปีผ่านมา พบว่าจำนวนโรงพยาบาลที่เข้าร่วมได้ลดลงจาก 120 แห่ง เหลือเพียง 93 แห่งในปัจจุบัน ท่ามกลางโรงพยาบาลแห่งใหม่มีเข้ามาร่วมบ้าง อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก ซึ่งไม่สามารถรองรับผู้ประกันตนได้มากพอดี
หากสถานการณ์นี้ยังคงดำเนินต่อไป จะส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นสมาชิกสมาคมหลายแห่งอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นได้ ซึจะมีผลให้โรงพยาบาลเหล่านี้ตัดสินใจถอนตัวจากการเป็นคู่สัญญากับประกันสังคม ซึ่งจะทำให้จำนวนโรงพยาบาลที่รองรับผู้ประกันตนลดลง และจะสร้างภาระให้กับ โรงพยาบาลของรัฐที่ต้องรองรับผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น
ดังนั้น สมาคมฯ จึงเรียกร้องให้ สปส.พิจารณาทบทวนอัตราค่าตอบแทนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และปรับระบบการจ่ายค่ารักษาสำหรับโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยเสนอให้กำหนดอัตราขั้นต่ำที่ 15,000 บาทต่อหน่วย Adjusted RW เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน และลดภาระทางการเงิน