ไทยส่งออกอาหาร 6 เดือนแรกปีนี้ โตเกือบ 10% มูลค่า 8.52 แสนล้านบาท ความต้องการโลกหนุน

นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า การ ส่งออกอาหาร ไทยช่วง 6 เดือนแรก ปี 67 (..-มิ..) แตะระดับ 852,423 ล้านบาท ขยายตัว 9.9% ปัจจัยหลักมาจากความต้องการสินค้าอาหารไทยในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบหลักในการแปรรูปหลายรายการอ่อนตัวลง โดยราคาปลาทูน่าที่ลดลง ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมปลาทูน่าแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง กลุ่มผู้ผลิตซอสได้รับต้นทุนน้ำตาลและถั่วเหลืองที่มีราคาถูกลง ราคากากถั่วเหลือง และราคาข้าวโพดที่ลดลง เอื้อต่อผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุตสาหกรรมไก่ ส่วนการลดลงของราคาข้าวสาลีในตลาดโลก ช่วยลดต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ขนมปังกรอบ รวมทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น

สำหรับกลุ่มสินค้าที่ปริมาณ/มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น และส่งผลบวกต่อภาพรวมส่งออกอาหาร ได้แก่ ข้าว แป้งมันสำปะหลัง อาหารสัตว์เลี้ยง ปลาทูน่ากระป๋อง ซอสและเครื่องปรุงรสรส  และผลิตภัณฑ์มะพร้าว ส่วนกลุ่มสินค้าที่ปริมาณส่งออกลดลง ส่วนใหญ่ประสบปัญหาด้านผลผลิต โดยเฉพาะผลไม้สด ปริมาณส่งออกลดลง 11.9% น้ำตาลทราย ปริมาณส่งออกลดลง 46.4% กุ้ง ปริมาณส่งออกลดลง 6.8% และสับปะรด ปริมาณส่งออกลดลง 13%

โดยปริมาณ และราคาส่งออกข้าวไทย เพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการตลาดโลก หลังอุปทานข้าวโลกตึงตัว จากการที่อินเดียยังคงจำกัดการส่งออก การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง และปลาทูน่ากระป๋องขยายตัวสูง อานิสงส์จากราคาปลาทูน่าที่อยู่ในระดับต่ำ ความต้องการปลาทูน่ากระป๋องในกลุ่ม OEM มีแนวโน้มโดดเด่น เพราะได้รับประโยชน์จากราคาขายลดต่ำลงตามต้นทุนวัตถุดิบ ซอสและเครื่องปรุงรสรสขยายตัวจากการที่ผู้ประกอบการไทยเน้นการรุกตลาดซอสบนโต๊ะอาหาร (Dipping/Table Sauces) รสชาติเผ็ดร้อนมากขึ้น หลังจากซอสในกลุ่มดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมากจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ในประเทศฝั่งชาติตะวันตก ทั้งยุโรป และสหรัฐอเมริกา การส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวขยายตัวสูงในกลุ่มกะทิที่นำไปประกอบอาหารในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย รวมถึงกะทิที่ผสมและใช้เป็นเครื่องดื่มสุขภาพในตลาดจีน

ในส่วนของตลาดส่งออกอาหารไทย ในช่วง 6 เดือนแรก ปี 67 ส่วนใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง อาทิ แอฟริกา (+38.5%) โอเชียเนีย (+29.0%) สหรัฐอเมริกา (+23.0%)  มีเพียงตลาดส่งออกไปยังประเทศอินเดีย (-18.1%) และจีน (-5.0%) ที่หดตัวลง

มูลค่าการค้าอาหารโลก 6 เดือนแรก ปี 67 หดตัวลง 4% มูลค่าการค้า 933 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศผู้ส่งออก 9 อันดับแรกของโลก มีอันดับโลกไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี จีน ฝรั่งเศส สเปน แคนาดา และอิตาลี ตามลำดับ สำหรับประเทศไทย ส่งออกในรูปดอลลาร์เพิ่มขึ้น 5.1% เป็นอันดับที่ 12 ของโลก

สำหรับแนวโน้มการส่งออกอาหารไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมีมูลค่า 797,568 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.8% โดยภาพรวมในปี 67 คาดว่าการส่งออกของอาหารไทยจะมีมูลค่า 1.65 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8% เทียบจากปีก่อนที่มีมูลค่า 1.51 ล้านล้านบาท มีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการที่ประเทศคู่ค้ากังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร หลายประเทศขาดศักยภาพในการผลิตสินค้าเพื่อการแข่งขันในตลาดโลก ขณะที่สินค้าอาหารไทยมีภาพลักษณ์ด้านคุณภาพมาตรฐาน และได้รับความเชื่อถือ

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles