นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดผยว่า ความคืบหน้าการมี ไฟฟ้าพลังงานสะอาด หรือ ไฟฟ้าสีเขียว ถือเป็นเรื่องที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นได้ สะท้อนจากที่ผ่านมามีการสอบถามเรื่องไฟฟ้าสีเขียวว่าประเทศไทยมีหรือไม่มาตลอด ทำให้เมื่อมีแล้วเชื่อว่าจะเป็นส่วนช่วยในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ไฟฟ้าสีเขียวอยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานมากนัก ทำให้ภายในเดือนกุมภาพันธ์–มีนาคมนี้ จะสามารถมีความชัดเจนออกมาในเรื่องอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวได้ ซึ่งราคาที่เปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่ประมาณ 4.55 บาทต่อหน่วย รวมถึงผู้ประกอบการที่มีความสนใจใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะสามารถขอใบรับรองที่มาของพลังงานไฟฟ้าสีเขียวได้ต่อไป
“เป็นครั้งแรกที่ไทยจะมีกระบวนการผลิต จัดหา และรับรองไฟฟ้าสีเขียวใช้ ซึ่งมั่นใจว่าประเทศไทย มีความพร้อมด้านการให้บริการไฟฟ้าสีเขียวเพื่อรองรับความต้องการพลังงานของธุรกิจ หรือบริษัทข้ามชาติที่ต้องการขยายการลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ทั้งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ขจัดอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน จากภาษีคาร์บอนข้ามแดน (CBAMC) ได้เป็นอย่างดี รวมถึงใบรับรองไฟฟ้าสีเขียวจะเป็นสากล เป็นที่ยอมรับในสากล สนับสนุนในเรื่องอุตสาหกรรมส่งออกไปต่างประเทศได้” นายพีระพันธุ์ กล่าว
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี ตระหนักดีถึงความต้องการใช้พลังงานสีเขียวของภาคธุรกิจ รวมถึงพันธกิจของรัฐบาลในการขับเคลื่อนภาคพลังงานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผน PDP เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในระบบอย่างต่อเนื่อง โดยตอนนี้สามารถจัดให้มีการให้บริการสองรูปแบบ ทั้งแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะไม่สามารถเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการ และแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเจาะจงแหล่งที่มาได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการไฟฟ้าสีเขียว โดยเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถรับรู้แหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการได้ พร้อมระบบใบรับรองการผลิตไฟฟ้าสีเขียวที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวทุกกลุ่มด้วย
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า การมีไฟฟ้าสีเขียวจะช่วยลดกำแพงการกีดกันทางการค้าที่มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ ถือเป็นโอกาสในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในไทยได้มากขึ้น สะท้อนจากโมเดลของหลายประเทศทั่วโลก ก็ใช้เป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนเช่นกัน โดยยืนยันว่าไฟฟ้าสีเขียว ภาคเอกชนและนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทย มีความต้องการสูงมาก รวมถึงเชื่อว่าประเทศไทย ระบบโครงข่ายไฟฟ้า มีความเหมาะสม มีเสถียรภาพ และมีความพร้อมสูงมาก จึงได้เปรียบในส่วนนี้ โดยคาดการณ์ว่าไม่เกินสิ้นปี 2567 จะสามารถใช้ไฟฟ้าสีเขียวได้ เพื่อให้ในปี 2030 จะมีการประกาศใช้พลังงานสะอาดอีกหลากหลายตามมา
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการมีความต้องการใช้พลังงานสีเขียวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อการจัดการพลังงานในพื้นที่นิคม ซึ่งอุตสาหกรรมในนิคมส่วนใหญ่เป็นการส่งออก จึงต้องปรับตัวตามกติกาโลก โดยเฉพาะการผลิตสินค้าโดยใช้พลังงานสะอาด ทำให้การมีไฟฟ้าสีเขียวจะถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติ ความต้องการพลังงานสีเขียวในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมฯ ที่ดูแลอยู่นั้น คาดว่าจะมีความต้องการไฟฟ้าสีเขียวไม่น้อยกว่า 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนช่วยลดกระทบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยจากกฎกติกาใหม่ในโลก พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนพลังงานสะอาด สร้างภาพลักษณ์ที่ดีสู่สายตาทั่วโลก โดยเฉพาะการเป็นพลเมืองที่ดีของโลกในแง่พลังงานสะอาดได้