แหกสงครามรถอีวี แข่งหั่นราคาฉ่ำ ค่ายรถยนต์ลด–จัดโปรฯ สู้ กระจกสะท้อนกำลังซื้อ ทิศทางอนาคตเศรษฐกิจไทย

แหก สงครามราคา รถ อีวี แข่ง หั่นราคา ฉ่ำ ค่ายรถยนต์ลด–จัดโปรฯ สู้ กระจกสะท้อนกำลังซื้อ ทิศทางอนาคตเศรษฐกิจไทย

เรียกได้ว่ากระแสของรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวีในบ้านเราแรงดีไม่มีแผ่ว ความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเมื่อก่อนอาจเห็นขับวิ่งบนถนนกันไม่บ่อย ด้วยราคาที่สูงพอสมควร และยังมีแบรนด์ให้เลือกไม่มากเท่าปัจจุบัน แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาถือเป็นยุคเฟื่องฟูของตลาดรถอีวีเลยก็ว่าได้ ด้วยเทคโนโลยีพลังงานสุดล้ำ ประหยัดพลังงาน ไม่ต้องเติมน้ำมัน ลดมลพิษอีกต่างหาก อีกทั้งเริ่มมีหลายค่ายเข้ามาทำตลาดในไทย จัดโปรฯ ประกันรถอีวีต่างๆ ก็มีเพิ่มเข้ามา ส่วนราคาก็มีรุ่นที่เอื้อมถึงได้มากขึ้น คนจึงหันมาเลือกซื้อรถอีวีมากขึ้นไปด้วย

แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเชื่อว่าคงไม่มีประเด็นไหนร้อนแรงเท่าสงครามการหั่นราคาของรถอีวีในบ้านเรา จากกรณีที่ค่ายรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่จากจีนอย่าง ‘บีวายดี’ ที่จัดโปรฯ สะบั้นหั่นแหลกรถไฟฟ้า รวมๆ แล้วกว่า 3 แสนบาท ทำเอาสาวกอีวีที่พากันซื้อก่อนหน้าด้วยราคาที่แพงกว่าถึงกับเซ็งว่าหั่นแหลกเกินไปไหม? ส่วนค่ายจากจีนอื่นๆ ก็ลดราคาลงจากที่เปิดตัวอีกด้วย แม้จะไม่แรงเท่าบีวายดีก็ตาม

เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ค่ายบีวายดีได้ออกแคมเปญลดราคารถยนต์ไฟฟ้า ‘BYD DOLPHIN’ และ ‘BYD ATTO 3’ ที่ลดสูงสุดถึง 3.4 แสนบาท หากซื้อรถยนต์ไฟฟ้า BYD SEAL รุ่น Dynamic รุ่น Premium และรุ่น Performance ที่ได้รับใบกำกับภาษีออกในช่วงระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการฉลองเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ BYD ครั้งแรกในประเทศไทย

โดยบีวายดีได้เปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในไทยด้วยมูลค่าลงทุนกว่า 17,000 ล้านบาท และยังนับเป็นการตั้งโรงงานผลิตแห่งแรกในต่างประเทศของบีวายดี กระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน 10,000 คน และจะนำพาไทยเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่ศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าอาเซียนเต็มรูปแบบอีกด้วย

สำหรับโรงงานผลิตรถยนต์บีวายดีแห่งนี้มีพื้นที่กว่า 948,000 ตารางเมตร ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 16 เดือนนับจากพิธิเปิดหน้าดิน มาพร้อมแนวคิดการลดใช้พลังงานและคาร์บอนต่ำ ครบครันด้วยเครื่องจักรกลอัตโนมัติ กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์ล้ำสมัยครอบคลุม 4 ขั้นตอนการผลิตยานยนต์ ได้แก่ การขึ้นรูป การเชื่อม การทำสี และการประกอบ ทั้งหมดนี้เพื่อการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าคุณภาพสูงและได้มาตรฐานสำหรับตลาดประเทศไทย โรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิตสูงสุดถึง 150,000 คันต่อปี ได้แก่ BYD DOLPHIN, BYD ATTO 3, BYD SEAL และ BYD SEALION 6 รวมถึงสามารถผลิตชิ้นส่วนสำคัญอย่างแบตเตอรี่และระบบส่งกำลังได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตามบรรดาลูกค้า หรือชาวเน็ตต่างก็พากันวิพากษ์วิจารณ์ว่าหั่นราคาของบีวายดีถือมาแรงมาก บางคนก็ว่าดัมพ์ราคาหรือไม่ บ้างก็ว่าคนซื้อก่อนเสียเปรียบ กระแสลดราคารถสู้กันในตลาดจึงเริ่มร้อนแรงขึ้น

ต่อมาคุณจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ขอให้ สคบ. ไปตรวจสอบกับบีวายดี เพราะมีการร้องเรียนจากประชาชนมาอย่างต่อเนื่องถึงความไม่สบายใจที่มีการกระหน่ำลดราคาลงมาอย่างรวดเร็ว จนทำให้ผู้บริโภคบางส่วนได้รับผลกระทบ รวมถึงไม่ได้รับความเป็นธรรม และเพื่อหาทางออกร่วมกันกับผู้บริโภค รวมถึงได้รับรายงานว่าจะมีการนัดหมายเข้ามาเจรจาร่วมกันในสัปดาห์หน้า

คุณจิราพรยังบอกอีกว่าการลดราคาเป็นผลดีกับผู้บริโภค ซึ่งจะได้ซื้อของในราคาที่ถูกลง เพียงแต่มีบางส่วนซื้อไปล่วงหน้าแล้วได้รับผลกระทบ กลายเป็นภาพเชิงลบแก่ผู้บริโภค ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของบริษัทบีวายดีที่จะต้องชี้แจง และคิดว่าภายหลังตั้งโรงงานจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมมากขึ้น ส่วนความกังวลว่าการปรับลดราคาของบริษัทฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคายานยนต์บริษัทอื่น ถือเป็นการแข่งขันของตลาดเสรีที่มีการแข่งขันด้านราคากันอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้มีกฎหมายหลายตัว ฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้าไปกำกับดูแล

ส่วนตนในฐานะที่กำกับดูแล สคบ. มีหน้าที่รับเรื่องโดยตรงจากผู้บริโภคเท่านั้น ซึ่งเรื่องของราคาและการแข่งขันทางการตลาดมีกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงต้องมีการหารือกันต่อไป

ด้านคุณชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม 2567 ว่านายหวัง ชวนฟู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีวายดี จำกัด (BYD) รับปากกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในระหว่างเข้าพบหารือที่ทำเนียบรัฐบาลว่าจะดูแลเรื่องการปรับราคารถยนต์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และจะหามาตรการเยียวยาให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดราคาดังกล่าว ส่วนการกำหนดราคารถยนต์นั้น บริษัทรับปากนายกรัฐมนตรีว่าจะพิจารณาตามที่นายกรัฐมนตรีแนะนำ คือปรับราคาในอนาคตให้มีรูปแบบและความถี่ที่เหมาะสมให้ตลาดปรับตัวได้ทัน รวมทั้งสัญญาที่จะหามาตรการในการเยียวยาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้วย

ผู้บริหารของบีวายดียังยืนยันกับนายกฯ ด้วยว่าให้ความสำคัญกับตลาดไทย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยบริษัทฯ ใช้ห่วงโซ่การผลิตจากประเทศไทยมากกว่าข้อบังคับ และมีการผลิตชิ้นส่วนหลายตัวในประเทศไทย และนำการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีใหม่มาผลิตในประเทศไทยด้วย โดยความสามารถในการผลิตของโรงงาน BYD ในประเทศไทยคือ 1.5 แสนคันต่อปี โดยจะใช้เวลา 2 ปีเพื่อผลิตอย่างเต็มความสามารถ นอกจากขายในประเทศไทยแล้วบริษัทฯ มีนโยบายที่จะส่งออกขายในภูมิภาคอาเซียน อินโดนีเซีย และเวียดนามด้วย

ส่วนในแง่ของการดัมพ์ราคารถ ผศ.ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้ออกมาชี้แจงว่ากรณีที่รถยนต์ไฟฟ้าบีวายดีที่จำหน่ายในไทยมีการลดราคาหลายแสนบาทนั้น ยังไม่มีผู้บริโภคร้องมากับทาง กขค. แต่ในหลักกฎหมายการแข่งขันทางการค้า จะเป็นการกำชับดูแลระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ หรือธุรกิจกับธุรกิจ ซึ่งหากมีการร้องเรียนเรื่องการลดราคาเข้ามา ก็ต้องไปตรวจสอบว่าขายต่ำกว่าทุน มีการดั๊มพ์ราคาจนทำให้ผู้ประกอบการเสียหาย และส่งผลต่อตลาดรวมเสียหาย หรือตรวจสอบที่ดั๊มพ์ราคาได้มาก เพราะไปกดราคาซัพพลายเออร์ต่ำมาก จนเกิดความเสียหาย และการลดราคานั้นมีเหตุผลอย่างไร เป็นเรื่องทางธุรกิจก็มีหลายปัจจัย เช่น ต้องการระบายสต็อกในเวลาสั้นๆ หรือสินค้านั้นใกล้หมดอายุ ต้องเร่งระบาดเพื่อลดความเสียหายของผู้ผลิตผู้จำหน่าย หรือเป็นการจัดโปรโมชันชั่วคราว ต้องการให้สินค้าเข้าถึงประชาชน แต่ถ้ากรณีลดราคาให้ผู้บริโภค และไม่มีผลกระทบต่อผู้ผลิตอื่นๆ ก็ไม่ถือว่ามีความผิดในกฎหมายแข่งขัน

อย่างไรก็ดีด้วยสถานการณ์รถยนต์ไฟฟ้าในไทยกำลังมีการขยายตัว ก็ต้องดูในเรื่องการแข่งขันแต่ในเชิงธุรกิจ แม้ตอนนี้จะยังไม่มีผู้ประกอบการร้องเข้ามาก็ตาม กขค. ก็จะยังคงเกาะติดต่อเนื่อง

ส่วนกรณีที่จะมีความผิดได้ตามกฎหมาย การขายลดราคาต่ำกว่าทุนโดยไม่มีเหตุผลทางธุรกิจ อาจจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า แต่หากขายต่ำกว่าทุนแต่มีเหตุผลทางธุรกิจ เช่น หมดรุ่น จำนวนรถในสต๊อกมีน้อย เป็นต้น ก็อาจไม่เข้าข่ายความผิด แต่เท่าที่ดูข้อมูลการลดราคาครั้งนี้ ไม่น่าจะต่ำกว่าทุน นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาในส่วนของซัพพลายเออร์ที่ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ของรถยนต์ด้วย เช่น แบตเตอรี่ หากค่ายรถยนต์บังคับให้ซัพพลายเออร์ลดราคาด้วย ก็อาจเข้าข่ายความผิด แต่หากเป็นการลดราคาเพื่อจูงใจผู้ซื้อในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยไม่ได้บังคับให้ซัพพลายเออร์ลดราคา ก็ถือว่าไม่ผิด เป็นเรื่องของกลยุทธ์การตลาด

ด้านค่ายรถญี่ปุ่น ยกตัวอย่างเช่น ฮอนด้า โดยบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ก็ยังได้มีการจัดโปรโมชันลด แลก แจก แถม กับเขาด้วย ในงาน FAST Auto Show Thailand 2024 เช่น แคมเปญ “Honda Happy Trade-in” เมื่อนำรถฮอนด้าคันเก่ามาขายและออกรถ แอคคอร์ด อี:เอชอีวี ใหม่ หรือ ซีอาร์-วี เทอร์โบ ที่โชว์รูมฮอนด้าทั่วประเทศ รับเพิ่มบัตรน้ำมันมูลค่า 40,000 บาท หรือเมื่อนำรถคันเดิมยี่ห้อใดก็ได้มาขายและออกรถ แอคคอร์ด อี:เอชอีวี ใหม่หรือ ซีอาร์-วี เทอร์โบ ที่โชว์รูมฮอนด้าทั่วประเทศ รับเพิ่มบัตรน้ำมันมูลค่า 20,000 บาท

โดยลูกค้าสามารถจองรถภายในงานและโชว์รูมฮอนด้าทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม –30 กันยายน 2567 หรือเป็นเจ้าของ ซิตี้ เทอร์โบ ใหม่ และซิตี้ แฮทช์แบ็ก เทอร์โบ ใหม่ กับแคมเปญ “Double Smile Plus” (ดับเบิ้ล สไมล์ พลัส) ผ่อนเริ่มต้น 5,970 บาท* (คำนวณจาก ซิตี้ ใหม่ (เกรด S) และ ซิตี้ แฮทช์แบ็ก ใหม่ (เกรด S+) เงื่อนไขดาวน์ 20%)พร้อมด้วยข้อเสนอสุดพิเศษที่แตกต่างกันในแต่ละรุ่น* อาทิ ดอกเบี้ยเริ่มต้น 0% พร้อมรับ Honda Exclusive Care (ฮอนด้า เอ็กซ์คลูซีฟ แคร์) ประกอบด้วย ฟรีประกันภัย 1 ปี ฟรีแพ็กเกจเช็กระยะ ค่าแรง และค่าอะไหล่ตามตารางการบำรุงรักษา 5 ปี เป็นต้น

ส่วนค่ายมาสด้าก็จัดแคมเปญ MAZDA JOY OF JULY ตลอดเดือนกรกฎาคมด้วย เช่น เลือกรับส่วนลดสูงสุด 200,000 บาท* หรือดอกเบี้ยต่ำสุด 0% นานสูงสุด 84 เดือน* พร้อมฟรี ประกันภัยชั้น 1 หรือ โปรแกรมคุ้มครองและดูแลรถ MUS 5 ปี* พร้อมฟรี ประกันภัยชั้น 1รวมมูลค่าสูงสุด 100,861 บาท เป็นต้น

มองๆ ไปก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องดีกับผู้บริโภคไม่น้อยที่จะได้ซื้อรถในราคาที่ถูกลง แต่ในมุมของนักเศรษฐศาสตรเองกลับมองเป็นสัญญาณอันตราย โดยดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ที่บอกว่า ราคารถที่ลดลงเป็นปัจจัยที่น่าห่วง เพราะไม่เพียงเฉพาะการแข่งขันด้านราคาเท่านั้น แต่ได้สะท้อนถึงกำลังซื้อคนในประเทศ ระดับกลางและระดับล่างของระบบเศรษฐกิจ ที่อ่อนแอลงอย่างมาก ทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์ต่างๆ ลดลง

ที่เห็นได้ชัดคือราคารถกระบะที่ลดลงอย่างมาก สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของภาคเกษตร ซึ่งเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ และจากกำลังซื้อที่ลดลงอาจลุกลามกระทบต่อการบริโภค การจ้างงาน กำลังการผลิตในระยะข้างหน้าให้ลดลงด้วย สุดท้ายอาจลามกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้มีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และเป็นปัจจัยที่ 4-5 หากเกิดปัญหาจะกระทบเป็นห่วงโซ่ไปธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องด้วย

ดร.อมรเทพ ยังเตือนให้ระวัง นอกเหนือจากราคารถที่ปรับลงแล้ว อีกประเด็นคือพฤติกรรมการทิ้งรถระหว่างการผ่อนชำระ ปล่อยให้โดนยึด เพราะมองว่าไม่คุ้มค่าในการผ่อนอีกต่อไป ซึ่งอาจจะกระทบไปยังราคาตลาดรถมือสอง รวมถึงกระทบต่อผู้กู้ใหม่ ที่นับเป็นปัจจัยที่น่าห่วงและไม่อยากให้เกิดขึ้น

ต่อจากนี้บรรดาสาวกบีวายดี ก็คงต้องรอกันไปก่อนว่าทางบีวายดีจะมีมาตรการชดเชยออกมาอย่างไร คาดว่าช่วงสัปดาห์หน้านี้จะมีความชัดเจนตามที่รับปากกับท่านนายกฯ เศรษฐาไว้…

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles