สื่อญี่ปุ่นระดับโลกเผยโครงการหนุนผลิตรถอีวีของไทยให้ค่ายผลิตรถอีวีจีนสร้างความหายนะให้อุตสาหกรรมยานยนต์

สื่อญี่ปุ่นระดับโลกเผยโครงการหนุนผลิต รถอีวี ของไทยให้ค่ายผลิตรถอีวีจีนสร้างความหายนะให้อุตสาหกรรมยานยนต์

สำนักข่าวนิกเคอิ ซึ่งเป็นสำนักข่าวชื่อดังระดับโลกจากญี่ปุ่น รายงานว่ารัฐบาลไทยเผชิญกับผลกระทบเป็นโดมิโน่เมื่อดำเนินนโยบายสนับสนุนเงินอุดหนุนโครงการลงทุนผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวี ด้านผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยกำลังเฝ้าจับตามองภาวะรถอีวีล้นตลาดในไทยได้ปะทุสงครามราคาในกลุ่มรถยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาป ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากลดกำลังการผลิตรถยนต์ และการปิดโรงงานผลิตรถยนต์

นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย นายกฤษฎา อุตตโมทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปริมาณสต็อกรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวีที่ล้นตลาดในประเทศ เนื่องจากมีการนำเข้ารถอีวีจากประเทศจีนเข้ามาเป็นจำนวนมากในช่วง 2 ปีผ่านมา ซึ่งสต็อกรถอีวีล้นตลาดทั้งหมดตกอยู่ในมือตัวแทนจำหน่าย หรือดีลเลอร์รถอีวี ทุกวันนี้ ประเทศไทยมีรถอีวีเหลือขายล้นสต็อกมากถึง 490,000 คัน หรือคิดเป็น 63% ของจำนวนรถทั้งหมดในประเทศไทยที่มียอดขายทั้งตลาดในช่วง 12 เดือนผ่านมา

บีวายดี ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถอีวีใหญ่ที่สุดของจีน เป็นค่ายรถอีวีจีนที่มีการทำธุรกิจเชิงรุกมากที่สุดในบรรดา 6 ผู้ผลิตรถอีวีสัญชาติจีนที่เข้าร่วมโครงการลงทุนผลิตรถอีวีของรัฐบาลไทย บีวายดีลดราคารุ่นแอตโต้3 มากถึงคันละ 340,000 บาท หรือคิดเป็นราคาลดลงมากถึง 37% ของการเปิดตัวรุ่นดังกล่าวในราคาเดิมที่คันละ 899,000 บาท ค่ายเนต้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งค่ายรถอีวีจีนได้ปรับลดราคารุ่นวีทูถึง 50,000 บาท หรือลดราคา 9% จากราคาเปิดตัวในครั้งแรกที่คันละ 549,000 บาท

ข้อมูลจากสภาพัฒน์ เปิดเผยกำลังการผลิตรถอีวีจากโรงงานที่ก่อตั้งในประเทศไทยของทั้ง 6 ผู้ผลิตรถอีวีสัญชาติจีนในประเทศไทย มีดังนี้ อันดับ 1 เนต้า 200,000 คัน อันดับ 2 บีวายดี 150,000 คัน อันดับ 3 ฉางอัน 100,000-200,000 คัน อันดับ 4 เอ็มจี 100,000 คัน อันดับ 5 เกรท วอลล์ มอเตอร์ 80,000 คัน และอันดับ 6 จีเอซี ไอออน 50,000 คัน ส่งผลทั้ง 6 ค่ายรถอีวีจีนมีกำลังการผลิตรวมกันทั้งสิ้นราว 680,000-780,000 คัน

ผลกระทบของการใช้นโยบายสนับสนุนการผลิตรถอีวีให้กับผู้ผลิตรถอีวีจีน ได้ส่งผลมาถึงผู้ผลิตรถยนต์ที่เหลืออยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทย ซึ่งมีการจ้างงานมากกว่า 750,000 คน ที่สำคัญ อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยคิดเป็น 11% ของจีดีพีไทย โดยเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่อันดับ 4 ของเศรษฐกิจประเทศไทย อุตสาหกรรมดังกล่าวส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมในภาพรวมทั้งประเทศในภาพที่คิดเป็น 25.2% ของจีดีพีประเทศไทย ตามด้วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวคิดเป็น 18% ต่อจีดีพี ถัดมาอุตสาหกรรมค้าปลีกคิดเป็น 16% ของจีดีพี อันดับ 4 อุตสาหกรรมรถยนต์คิดเป็น 11% ของจีดีพี และอันดับที่ 5 คือเกษตรกรรมคิดเป็น 8.6% ของจีดีพีไทย

ยอดขายรถยนต์เครื่องสันดาปเผชิญภาวะยอดขายตกต่ำย่ำแย่หลังจากนโยบายสนับสนุนการผลิตรถอีวีเริ่มมีผลให้ราคาขายปรับลดลง ค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมียอดขายรวมกันมากถึง 90% ของยอดขายรถยนต์ในภาพรวมทั้งประเทศ ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยยอดขายรถยนต์ 5 เดือนแรกของปีนี้ในประเทศไทย พบว่ามียอดขายรวม 260,365 คัน ลดลงมากถึง -23% เทียบช่วงเดียวกันในปี 2023 ทำสถิติยอดขายรถยนต์ในประเทศต่ำสุดในรอบทศวรรษ

นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีนี้มา คำสั่งซื้อชิ้นส่วนรถยนต์ลดลงอย่างรุนแรงถึง -40% เนื่องจากแต่ละผู้ผลิตรถยนต์ในไทยลดกำลังการผลิตระหว่าง 30% ถึง 40% ในปีนี้ การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในไทยจะเผชิญความไม่ราบรื่นไปสู่การผลิตรถอีวี โดยมีบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เพียง 12 แห่งจากทั้งหมด 660 แห่งที่จะสามารถร่วมทำงานกับค่ายรถอีวีจีน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles