นายสรนันท์ เศรษฐี นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท นอร์ทเทิร์น เรียลเอสเตท จำกัด กล่าวว่า ความต้องการค้นหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ในเชียงใหม่ลดลงมาก โดยหดหายถึง 50% เมื่อเทียบกับปีผ่านมา ปัญหาน่าจะมาจากหนี้ครัวเรือนสูงมาก ดอกเบี้ยธนาคารก็สูง คนจึงชะลอการซื้อบ้าน เพราะไม่อยากก่อหนี้สินระยะยาวเกินไป ปัญหาทั้งหมดจึงฉุดความต้องการซื้อหาที่อยู่อาศัยในจังหวัดเชียงใหม่ลดลง
การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่ ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ผ่านบน Baania Marketplace 37,139 คน ปรากฎว่า มีเพศหญิง 93.7% อายุ 45-54 ปี กลายเป็นกลุ่มคนมองหาบ้านมากสุด และเป็นกลุ่มที่มีครอบครัวแล้ว ถัดมาเป็นกลุ่มคนในวัยทำงานอายุ 25-34 ปี มีความสนใจที่อยู่อาศัยในราคาไม่สูงมากเกินไป ต้องการอยู่อาศัย 1-2 คน และสัตว์เลี้ยง
นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่ กล่าวต่อไปว่า ภาวะราคาที่ดินสูงขึ้นมากกว่ากำลังซื้อและรายได้ จึงทำให้บ้านมือสองในเชียงใหม่ได้รับความนิยมมากกว่าบ้านใหม่ ขณะนี้ คนซื้อบ้านมักจะเปรียบเทียบระหว่างเงิน 5 ล้านบาท ซื้อบ้านใหม่ก็จริง แต่ได้บ้านมีขนาดเล็กลง และอยู่ไกลขึ้น เมื่อไปดูบ้านมือสอง กลับได้โครงการที่อยู่ใกล้เมือง ขนาดบ้านก็เป็นหลังใหญ่กว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นบ้านแฝดหรือทาวน์โฮม คนมักจะนิยมซื้อหลังใหม่มากกว่า ส่วนคอนโดมิเนียมมีให้เลือกทั้งขนาดเล็ก และกลาง โดยคอนโดมิเนียมมือสองที่มีพื้นที่ขนาดเล็กได้รับความนิยม
สำหรับประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่ค้นหามากที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ อันดับ 1 บ้านเดี่ยว อันดับ 2 ทาวน์โฮมกับบ้านแฝด และอันดับ 3 คอนโดมิเนียม โดยมีลูกค้า 2 กลุ่ม คือ คนไทย และต่างชาติ
สำหรับภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่นั้น สถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวลง ทำให้การซื้อขายลดลงทั้งจำนวนยูนิต และมูลค่าด้วย อย่างไรก็ตาม เชียงใหม่จะมีกำลังซื้อจากลูกค้าชาวต่างประเทศเข้ามาชดเชย โดยเฉพาะกำลังซื้อคอนโดมิเนียมมีเป็นหลัก คอนโดมิเนียมระดับราคา 2-10 ล้านบาท เป็นที่นิยมนั้นจะอยู่ในทำเลช้างคลาน ย่านมหิดล นิมมาน ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจของเชียงใหม่ นิยมซื้อแบบฟรีโฮลด์ สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จแล้วเท่านั้น
ลูกค้าชาวจีนที่ส่งลูกหลานมาเรียนโรงเรียนนานาชาติในตัวเมืองเชียงใหม่ จะมีทั้งมาซื้อ หรือมาเช่าคอนโดมิเนียมที่ตั้งอยู่ใกล้โรงเรียน โดยเป็นห้องขนาด 1-2 ห้องนอน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนญี่ปุ่นที่เกษียณการทำงานมาใช้ชีวิตที่จังหวัดเชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม อสังหาริมทรัพย์ในเชียงใหม่ โดยเฉพาะราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ยังคงอยู่ในสภาพการกู้ธนาคารแล้วไม่ผ่าน ถึงแม้ว่าจะขายได้ แต่กลับโอนไม่ได้