นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า สงครามการค้าในครั้งนี้ ประเทศไทยเจอศึกค่อนข้างหนัก โดยมองว่า สิ่งที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อยากได้ในสงครามครั้งนี้ คือ 1. ต้องการให้เปิดอุตสาหกรรมในประเทศ ลดอัตราภาษี ยกเลิก non-tariff พิธีการต่าง ๆ 2. อยากให้มีการย้ายฐานการผลิตไปสหรัฐฯ และ 3. ทรานชิปเมนต์
โดยอัตราภาษีที่ไทยกำลังโดนขู่ มองว่าเขาต้องการดิสรัป ซัพพลายเชนทั้งภูมิภาค โดยมีเป้าหมายสำคัญคือจีน และทำให้เกิดสงครามในหลายมิติ โดยในประเทศที่เห็นชัด ๆ คือการบังคับให้เราเลือกระหว่างภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร บริการ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่ที่ไทยส่งออก 18% ประเด็นตอนนี้อาจไม่ใช่ว่าเราโดนเท่าไหร่ แต่เราโดนเท่าไรเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งตอนนี้ประเทศรอบ ๆ ต่ำกว่าเราหมด” นายพิพัฒน์ กล่าว
ดังนั้น คำถามสำคัญคือไทยที่มีความไม่แน่นอนในหลาย ๆ ด้าน แล้วทำไมต่างชาติจะต้องมาลงทุนในไทย ซึ่งนี่อาจเป็นวิธีการเจรจาของทรัมป์ที่ใช้ความไม่แน่นอนเป็นเครื่องมือให้เกิดการตกลงเกิดขึ้นเร็ว ซึ่งสิ่งที่จะกระทบมากกว่าความสามารถในการแข่งขัน คือความสามารถในการเป็นฐานการลงทุน
ทั้งนี้ นายพิพัฒน์ มองว่า ถ้าไทยไม่สามารถเจรจาได้ ก็จะเหนื่อย เพราะสิ่งที่ไทยต้องเจอคือผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและการลงทุน การเกษตรและบริการ และเงื่อนไขเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องทางการค้า รวมถึงการที่ไทยอาจจะต้องเลือกระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทั้งนี้มองว่าแรงกดดันครั้งนี้รุนแรง ไทยต้องมาปรับโครงสร้าง เปิดเสรีอย่างค่อยเป็นค่อยไป และหาวิธีชดเชยเยียวยา โดยประเด็นสำคัญคือการอัพสกิลรีสกิลแรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว
ส่วนปัจจุบันนโยบายอัตราดอกเบี้ยมีความเหมาะสมกับพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแล้วหรือไม่ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ช็อกครั้งนี้ที่ไทยเจอค่อนข้างรุนแรง การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สื่อสารชัดเจนว่า ไม่ได้ขัดกับการผ่อนคลายนโยบายการเงิน แต่อยากเก็บกระสุนไว้เผื่อช็อกใหญ่กว่านี้ ในมุมมองของตนมองว่าช็อกครั้งนี้ใหญ่มาก ดังนั้น อาจต้องมานั่งคิดเรื่องการออกแบบ Policy space เพิ่มเติม