เปิดวิกฤตครึ่งชีวิตคนไทย ช็อคกับดักหนี้รายได้กลวง l 14 ก.ย. 65 FULL l BTimes

1174
0
Share:

Sep 15, 2022

ชำแหละปีมหาชงคนไทย แบกทุกข์หลังหัก บนสภาวะหนี้ครัวเรือนพุ่ง เงินเฟ้อฟุ้ง เศรษฐกิจช็อค รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์

การจับการ ค่าครองชีพ หนี้ครัวเรือน เศรษฐกิจ

จากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ไม่ว่าจะมองมิติไหน ก็ดูจะเป็นปัญหากับค่าครองชีพคนไทยไปซะหมด ไล่มาตั้งแต่เงินเฟ้อที่พุ่งแซงรายได้ขยับมาอยู่ที่กว่า 7% ทุบสถิติเงินเฟ้อครั้งใหม่ที่รุนแรงในรอบกว่าสิบปี ตามติดด้วยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่าในหนึ่งครัวเรือนมีหนี้เฉลี่ยสูงถึง 501,711 บาท สอดคล้องกับข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยและบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ที่ระบุว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบันอยู่ในระยะอันตราย เพราะได้พุ่งไปแตะที่ 90% ของจีดีพีประเทศเป็นที่เรียบร้อย

คุณสุรพล โอภาสเสถียร – ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)

คุณสุรพล โอภาสเสถียร – ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ณ ตอนนี้คนไทยมีมูลหนี้ทั้งหมด 14.6 ล้านล้านบาท อยู่ในฐานข้อมูลของเครดิตบูโร 13 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ NPL หรือที่หนี้เสียแล้วถึง 1.1 ล้านล้านบาท จาก 5.5 ล้านคน เมื่อเจาะลึกลงไปอีกระดับจะพบว่าลูกหนี้เกรดเอที่มีประวัติการชำระคืนเป็นอย่างดีมาตั้งแต่ปี 2562 ในวันนี้ปี 2565 กลายเป็นหนี้เสียจำนวน 2.9 ล้านคน โดยสาเหตุของการเป็นหนี้เสียส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด ที่ทำให้รัฐจำเป็นต้องล็อคดาวน์ประเทศ รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากเผชิญกับสภาวะ Income Shock หรือภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง จำเป็นต้องดึงเงินออมมาใช้จ่ายในช่วงที่รายได้ขาดมือ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้นคือหากมีคนเดินมา 4 คน 1 ในนั้นคือคนที่มีหนี้เสีย

และหากถามว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ กับวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ครั้งไหนรุนแรงกว่ากัน ก็คงต้องเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนว่าในปี 2540 นั้นคนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจะเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ กระแทกระลอกต่อมาถึงบรรดาลูกจ้าง ส่งผลให้คนตกงานแบบสายฟ้าแล่บเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากในยุคนั้นการขออนุมัติสินเชื่อรายย่อยยังไม่เกิด หรือแม้แต่การสมัครบัตรเครดิตเองก็มีความซับซ้อน กว่าจะอนุมัติกันได้ก็กินเวลาไปนานเกือบเดือนไม่เหมือนกับสมัยนี้ ที่แค่ผ่านเกณฑ์ ไม่ติดตัวแดงในเครดิตบูโร ก็มีเปอร์เซ็นต์ที่จะได้รับการอนุมัติสูง ทำให้หนี้เสียส่วนมากมักมาจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต

การเงิน หนี้ครัวเรือน เศรษฐกิจ

อย่างไรแล้ว ปัญหาหนี้จะถูกแก้ไขได้คงต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร รวมทั้งต้องค่อยๆ แก้ปัญหาเป็นแบบขั้นบันได อาศัยผู้มีอำนาจเข้ามาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย และเคาะมาตรการที่เหมาะสม อิงจากความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ไปสร้างหนี้เพิ่มเกิดเป็นวงจรหนี้หมุนเวียนแบบไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งตัวลูกหนี้ก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย และไม่สร้างหนี้เพิ่มร่วมด้วย โดยเจ้าหนี้ก็ต้องหามาตรการที่จะช่วยประคับประคองลูกหนี้กลุ่มสีเขียว-เหลือง-ส้ม ให้สามารถชำระหนี้ตามปกติได้ เพื่อกันไม่ให้ลูกหนี้ชั้นดีเหล่านี้ต้องเกิดสภาวะช็อต จนกลายเป็นลูกหนี้สีแดง* และสีดำ*

*ลูกหนี้สีแดง คือคนที่ขาดการชำระมากกว่า 3 เดือนจนกลายเป็นหนี้ NPL
*ลูกหนี้สีดำ คือคนที่ขาดการชำระมากกว่า 6 เดือน ถึงขั้นถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และต้องมาไกล่เกลี่ยหนี้

BTimes