ปัจจุบันการจะยื่นกู้ขอสินเชื่อเงินสักก้อน กลายเป็นเรื่องยากไปเสียแล้ว เพราะแต่ละธนาคารเข้มงวดเรื่องการปล่อยกู้มากขึ้น สาเหตุสำคัญก็มาจากปริมาณหนี้เสียที่ยังสูง มีลูกค้าที่ผิดนัดจ่ายหนี้ และยังมีกลุ่มที่สุ่มเสี่ยงจะกลายเป็นหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น ทางออกที่เร็วที่สุดในการตัดวงจรหนี้เสีย จึงเริ่มจากการเพิ่มความเข้มงวดในการให้สินเชื่อ
แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่หลายครอบครัว หรือหลายธุรกิจอาจมีความจำเป็นที่ต้องขอยืมเงินทุนมาหมุนเวียน การยื่นกู้สถาบันการเงินจึงเป็นทางออกที่เหมาะที่ควรที่สุดกว่าการจะต้องไปหยิบยืมจากนายทุนปล่อยกู้นอกระบบ การจะยื่นสินเชื่อแต่ละครั้งต้องมีหลักฐานหรือเอกสารที่แสดงข้อมูลที่มีน้ำหนักมากพอที่แบงก์จะปล่อยกู้ แต่ถ้ามองในมุมของคนที่มีอาชีพอิสระ หรือฟรีแลนซ์ หรือพ่อค้าแม่ค้าร้านขายข้าวแกงในตลาด จะยื่นกู้แบงก์อาจจะเป็นเรื่องยาก
ล่าสุด ทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ได้ออกมาให้ข้อมูลว่าเตรียมจะปรับเกณฑ์ของการยื่นขอสินเชื่อของเหล่าบรรดาสถาบันการเงิน โดยคุณวิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดผยข้อมูลว่าก่อนหน้านี้แบงก์ชาติได้เปิดรับฟังความเห็นต่อแนวนโยบายการเปิดกว้างให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลตามสิทธิของผู้ใช้บริการ (Open Banking Data for Consumer Empowerment) ภายในครึ่งแรกของปีนี้จะมีจัดตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานที่จะเข้ามาดู Open Banking Data คาดว่าภายในเดือนเมษายน 2567 จะมีการสื่อสารแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน
ปัจจุบันได้มีการพูดคุยร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ประปานครหลวง และประปาส่วนภูมิภาค โดยคาดว่าจะสามารถเปิดใช้ประโยชน์จากข้อมูลของผู้ใช้บริการได้ภายในปีนี้ ส่วนแบงก์พาณิชย์ภายใต้การกำกับคาดว่าจะมีการเปิดให้บริการทางการเงินจริงในปี 2568
คุณณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า หลังจาก ธปท. ได้เปิดรับฟังความเห็นดังกล่าวนั้น ภาพรวมภาคส่วนต่างๆ เห็นด้วยกับหลักการและเป้าหมายที่แบงก์ชาติเสนอในการผลักดันกลไกที่เอื้อให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิส่งข้อมูลของตน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และได้รับบริการที่ดีขึ้น และผู้ให้บริการสามารถเข้าถึงข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งเสริมการแข่งขันและพัฒนาบริการที่ดีขึ้น และเห็นด้วยกับทิศทางการผลักดันให้มีกลไกให้ผู้ใช้บริการใช้สิทธิส่งข้อมูลในภาคสถาบันการเงินก่อน
บางส่วนเห็นว่าควรผลักดันกลไกที่ผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิส่งข้อมูลข้ามกันระหว่างภาคส่วนอื่นกับภาคสถาบันการเงินควบคู่กันไปด้วย ให้สามารถนำข้อมูลของผู้ใช้บริการที่เก็บอยู่หลายแหล่งไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาบริการและนวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสมัครและการพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งข้อมูลที่บ่งบอกพฤติกรรมและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ยื่นขอสินเชื่อจะเป็นประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะข้อมูลที่แสดงถึงรายรับและรายจ่ายของผู้ใช้บริการ เช่น การเดินบัญชีเงินฝาก รายได้ประกอบการยื่นภาษี เงินสมทบประกันสังคม และการซื้อขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม รวมถึงดูพฤติกรรมจากการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ว่าการจ่ายบิลตรงเวลาหรือไม่ และบางส่วนเห็นว่าข้อมูลที่บ่งบอกสถานะของบุคคลหรือบริษัท ซึ่งสามารถยืนยันความมีตัวตนที่แท้จริงที่มีอยู่กับหน่วยงานภาครัฐ เช่น ข้อมูลที่เกี่ยวกับการบังคับคดี การล้มละลาย การจดทะเบียนบริษัท และข้อมูลการถือครองสินทรัพย์ที่จับต้องได้ที่อยู่กับหน่วยงานภาครัฐ เช่น ที่ดิน รถยนต์ อาจนำมาใช้ประโยชน์ได้ด้วย
ด้านคุณฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือทีทีบี มองว่าประโยชน์ของ Open Data จะเข้ามาช่วยในเรื่องของการรวมหนี้ Debt Consolidation หากมีการแชร์ข้อมูล เพราะปัจจุบันเราไม่รู้ว่าลูกค้ากลุ่มนี้ปิดบัญชีจากอะไร ทำให้ลูกค้าสามารถไปกู้ที่ใหม่ได้ ขณะเดียวกันธนาคารก็จะลดต้นทุนจากการนำเช็คไปปิดบัญชีให้ลูกหนี้ แต่ในอนาคตมีการ Share Data ว่าลูกหนี้รายนี้ปิดบัญชีเพราะอะไร ซึ่งจะทำให้มีส่วนในการช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น
สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการปล่อยสินเชื่อของแบงก์ก็คือเรื่อง “หนี้” ภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง 90% ของจีดีพี ทำให้หลายคนเริ่มต้นใหม่ไม่ได้ เพราะหลักๆ ธนาคารจะพิจารณาให้หรือไม่ให้กู้ ก็เพราะภาระหนี้เลยอันดับ 1 ยิ่งถ้าใครผิดนัดชำระหนี้แค่ 3 เดือนก็ถือว่าเสี่ยงแล้ว ยิ่งหนี้เสียอย่าได้พูดถึง กู้ไม่ได้แน่นอน พอยท์นี้แหละที่แบงก์ชาติต้องการจะมาร์คไว้ตัวแดงๆ
คุณชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย ให้ความเห็นว่าการเปิดข้อมูลภายใต้ Open Banking Data จะช่วยผู้ประกอบการขนาดกลาง เช่น SMEs หรือฟินเทคสตาร์ทอัพ ซึ่งสิ่งที่จำเป๊นในการปรับเงื่อนไขยื่นกู้นี้ จะต้องมี
1. คือแอปพลิเคชันที่รวบรวมข้อมูลหนี้ เช่น หนี้บัตรเครดิต ส่วนบุคคล ซึ่งเสียดอกเบี้ยแพงสามารถนำมารวมหนี้กับสินเชื่อบ้านได้ โดยนำข้อมูลมารวมกันได้
2. แอปพลิเคชัน รวบรวมรายจ่าย เช่น การใช้บัตรเครดิตในแต่ละเดือน เพราะถ้าสามารถหากลิงก์ข้อมูลรวมกันจะทำให้คนหันมาทำรายจ่ายกันมากขึ้น การแชร์ข้อมูลระหว่างกันมากขึ้น
และ 3. แอปพลิเคชันรวมพอร์ตการลงทุนทั้งหมด ถ้าทุกกคนสามารถรู้ว่ามีการลงทุนอย่างไร จะนำไปสู่การออมและการลงทุนมากขึ้น รวมถึงการบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนได้ เหล่านี้ก็จะช่วยซัพพอร์ตในส่วนของการยื่นกู้ใหม่ได้
แต่คุณชลเดช ก็ยังเป็นห่วงเรื่องของต้นทุน เช่น ที่ผ่านมาผู้ให้บริการคิดค่าธรรมเนียมการยืนยันตัวตนผ่าน NDID อยู่ที่ 100–200 บาท ทำให้บางบริการ บางธุรกรรมไม่สามารถเกิดได้จริง จึงอยากให้กำหนดอัตราหรือคิดต้นทุนต่ำๆ เพื่อให้บริการเกิดขึ้นจริง
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าตอนนี้แบงก์ชาติอาจยังโยนหินถามทางก่อน เพราะถึงยังไงแล้ว ในท้ายที่สุดก็จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะจากหลากหลายมุมมอง ไปประกอบการพิจารณา และหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง โดยขีดเส้นที่จะสื่อสารแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจนในเดือนเมษายน 2567 นี้อีกรอบ
เอาเป็นว่าตอนนี้เกณฑ์ใหม่นี้ยังไม่เกิด จะตอบโจทย์ หรือไม่ตอบโจทย์ในฐานะลูกค้าในอนาคตของแบงก์พาณิชย์ก็ตาม ขอให้ทุกคนรอดูกันต่อไป เมื่อแบงก์ชาติตกผลึก รับฟังจากทุกด้านแล้ว จะคลอดเกณฑ์ที่พร้อมบังคับแบงก์พาณิชย์ได้ใช้กันจริงจังอย่างแน่นอน ตอนนี้กัดฟันรอไปก่อน… BTimes เป็นกำลังใจให้ทุกคน สู้ชีวิตกันต่อไปจ้า