กฎหมายน้ำเมา ที่ต้องไม่ให้ประชาชนมัวเมา-ปลดล็อกผลิต แก้โจทย์ช่วยชุมชนหรือแก้ครหาเอื้อนายทุน?

474
0
Share:

กฎหมายน้ำเมา ที่ต้องไม่ให้ประชาชนมัวเมา-ปลดล็อกผลิต แก้โจทย์ช่วยชุมชนหรือแก้ครหาเอื้อนายทุน?

ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ลากยาวมาจนถึงสัปดาห์นี้ กระแสของกฎหมายสุราก้าวหน้าเป็นที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งตัวกฎหมายหรือ “ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้านี้” ถูกเสนอโดยพรรคก้าวไกล เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะปลดล็อกตลาดสุราเสรีแบบ 100% และให้สุราชุมชนต่อสู้กับนายทุนใหญ่ได้ในอนาคต

ทำเอาบรรดาผู้ประกอบการรายเล็กใจฟู เพราะกฎหมายสรุราฉบับเก่า หลายคนมองว่าค่อนข้างตึง โดยเฉพาะหลักเกณฑ์เงื่อนไขเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิตสุรา หรือคราฟเบียร์ หรือแม้กระทั่งภาษี ค่าใช้จ่ายจิปาถะต่างๆ ที่ส่วนใหญ่มองว่าเอื้อให้แก่รายใหญ่ซะมากกว่า ซึ่งผู้ผลิตรายเล็กๆ หรือในนามของชุมชน ต่อให้มีแบรนด์เป็นของตัวเอง แต่ก็ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้เลย

ก่อนหน้าที่จะมีการพิจารณาเคาะไม่เคาะกฎหมายฉบับใหม่นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้อนุมัติหลักการกฎกระทรวงว่าด้วยการผลิตสุรา65 ไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน และมีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 2 พฤศจิกายน ตามการประกาศในราชกิจจานุเบกษา หลักใหญ่ใจความคือการแก้ไขกฎกระทรวง การอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ.2560 เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสุรา รวมทั้งปรับปรุงขั้นตอนวิธีการขออนุญาต สำหรับผู้ผลิตสุราเพื่อการค้า และไม่ใช่เพื่อการค้าให้ชัดเจน ซึ่งจะทำให้การจัดเก็บภาษีและการควบคุมคุณภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้สุราชุมชนขนาดเล็ก จากที่ต้องใช้เครื่องจักรในการผลิตต่ำกว่า 5 แรงม้า และใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน ให้สามารถขยายกำลังการผลิตเป็นระดับกลาง ที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตสูงกว่า 5 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า และสามารถใช้คนงานมากกว่า 7 คนได้ แต่ต้องไม่เกิน 50 คน รวมทั้งได้ยกเลิกการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำและทุนจดทะเบียน สำหรับทั้งกรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) และโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่

*กรณีสุราแช่ เช่น น้ำตาลเมา อุ เบียร์ ไวน์ สปาร์กลิงไวน์ และสุราแช่พื้นเมือง ยกเลิกการกำหนดทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
*กรณีสุราแช่ ชนิดเบียร์ ยังต้องเป็นบริษัทที่จัดตั้งตามกฎหมายไทย และมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 และยกเลิกกำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตรต่อปี และ 1 ล้านลิตรต่อปี และกำหนดให้เป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน หรือใช้เครื่องจักรผลิตเบียร์ที่มีมาตรฐานตามที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศ
*กรณีสุรากลั่น เช่น สุราขาว สามารถเพิ่มขนาดเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า หรือใช้คนงานน้อยกว่า 50 คนได้
*กรณีสุรากลั่นพิเศษ เช่น วิสกี้ บรั่นดี และยิน ยังคงเงื่อนไขการผลิตขั้นต่ำตามเดิม (ไม่ต่ำกว่า 30,000 ลิตรต่อวัน)

โดยร่างกฎกระทรวงฯ ของรัฐบาลส่วนใหญ่เน้นผ่อนคลายความเข้มข้นของ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน ส่อแววว่า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าคงจะไม่ผ่านได้ง่ายๆ

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติคว่ำร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่) พ.ศ. …. หรือ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ซึ่งก็เป็นไป “ตามคาด” คือแพ้ไปเพียง 2 เสียงอย่างไม่น่าประหลาดใจ

ถ้าหากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เคยใหสัมภาษณ์กับนักข่าวไว้ว่า ในเมื่อแก้ไขกฎกระทรวงฯ สุราออกมาแล้ว พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ของพรรคก้าวไกล ก็ไม่จำเป็นต้องผ่านสภา เพราะในกฎกระทรวงมีสิ่งที่ดีเกือบเท่าเทียมกัน แต่ถ้าหากดูรายละเอียดจะหย่อนลงจากกฎหมายปี พ.ศ.2560 เยอะมากกว่าครึ่ง ขณะเดียวกันร่างกฎกระทรวงฉบับที่ 2 นี้ทำมา 6 เดือนแล้ว ก่อนที่พรรคก้าวไกลจะเสนอกฎหมาย เพียงแต่กฎกระทรวงที่กรมสรรพสามิตเสนอ คณะกรรมการกฤษฎีกาดูแล้วเห็นว่าในเมื่อแก้แล้วยังไม่ดีก็จะแก้ใหม่ แม้จะถูกมองว่าปาดหน้าเค้กกันไปซะดื้อๆ แต่รองนายกฯก็ยืนยันหนักแน่นว่า “ไม่ได้ตัดหน้าก้าวไกลแต่อย่างใด”

แน่นอนว่าเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นความจงใจใช้เกมกฎหมาย เพื่อสกัดร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่…) พ.ศ…. หรือร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า ฉบับที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรเตรียมพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้

ซึ่งในที่ประชุมสภาฯ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ได้อภิปรายตั้งข้อสังเกตสำคัญว่า จงใจออกกฎกระทรวง เพื่อคว่ำร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า กีดกันการเปิดตลาดสุราเสรี ที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายใหญ่คือลดการผูกขาดธุรกิจน้ำเมา ที่ในปัจจุบันมีผู้ผลิตรายใหญ่เพียง 7 รายในประเทศไทย

แม้ “ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า” จะไม่ได้กำหนดลักษณะที่เข้าข่ายกีดกัน เพราะกำหนดให้ไปเขียนไว้ในกฎกระทรวง แต่การบัญญัติกติกาสำคัญ “ห้ามกีดกันทางการค้าหรือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม” ไว้ในกฎหมายแม่ ถือเป็นช่องทางที่จะเอื้อให้เกิดการเปิดตลาดเสรี 100% และถือเป็นกฎหมายที่เอาไว้ให้รายเล็กต่อสู้กับรายใหญ่ในตลาที่เตรียมบดขยี้ในอนาคต และที่สำคัญได้กำหนดเงื่อนไขเปิดช่องให้ “ชาวบ้าน” ที่จะผลิต “สุรา” เพื่อบริโภคในครัวเรือน ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายอีกต่อไป ภายใต้เงื่อนไขที่ถูกต้อง ตามหลักของกฎหมายที่พึงจะควบคุมและเหมาะสม

แต่ในกฎกระทรวงการคลังว่าด้วยการผลิตสุรา พ.ศ.2565 ที่แก้ไขกฎกระทรวงเดิม พ.ศ.2560 นั้น หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ารีบประกาศใช้แบบฉุกละหุก ในเนื้อในของกฎกระทรวงไม่สามารถปลดล็อกให้เกิดเสรีในตลาดสุรา-คราฟเบียร์ได้แบบ 100% ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

นายกรชนก แสนประเสริฐ เจ้าของเบียร์ดาวดิน มองว่าการประกาศกฎกระทรวงการผลิตสุรา ซึ่งพูดถึงเรื่องกำลังการผลิต การควบคุมคุณภาพ โดยที่กรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต หรือ Brewpub ให้ยกเลิกการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำและทุนจดทะเบียน แต่ยังคงห้ามบรรจุขวดขายเหมือนเดิม ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าประกาศฉบับนี้จึงไม่มีอะไรใหม่ หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงกับการผลิตเบียร์ในผู้ประกอบการรายย่อย เพราะการลงทุนสำหรับการผลิตเบียร์เพื่อขาย ที่สถานที่ผลิตอย่างต่ำก็เกือบ 10 ล้านบาทแล้ว เพราะโรงเบียร์ขนาดเล็ก และโรงงานรับผลิตเบียร์ มีทุนจดทะเบียนเกือบ 10 ล้านบาทเช่นกัน เครื่องจักร อุปกรณ์ผลิต ถังหมัก ห้องเย็นเป็นเบียร์ ล้วนใช้เงินลงทุนที่สูง การประกาศกฎกระทรวงยกเลิกทุนจดทะเบียน จึงไม่มีความหมายอะไรสำหรับคนทำเบียร์

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ มองว่า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ยังมีจุดบกพร่องหลายจุดที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนมาก เกรงว่าจะเป็น “ดาบสองคม” หากปล่อยเสรีมากเกินไป

นอกจากนี้นายธนกรยังกล่าวว่ารัฐบาลระบุเงื่อนไขเพื่อลดผลกระทบต่างๆ การเปิดโอกาสในการผลิตและจำหน่ายสุราและเบียร์ควรทำได้ แต่ไม่ควรให้อิสระมากเกินไปจนไม่มีขอบเขต เพราะต้องยอมรับว่าสุราส่งกระทบต่อสังคม ต่อศีลธรรม ต่อสุขภาพ ช่วยให้การกระจายตัวของการผลิตไปยังทุกๆ บ้าน ทุกท้องถิ่น สุราเบียร์มีราคาถูกลง ส่วน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า แม้ว่าอาจจะแก้ไขการผูกขาดได้ แต่กลายเป็นมองข้ามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมในอนาคต ซึ่งกฎกระทรวงได้แก้ไขจุดอ่อนเหล่านี้ไว้แล้ว โดยหัวใจของการแก้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ส่วนของการปลดล็อกทุนจดทะเบียน และกำลังการผลิตเพื่อให้รายย่อยทำได้ และ 2.เงื่อนไขสำหรับการปกป้องสังคมและประชาชน เช่น ผู้ผลิตต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าสู่วงจรการผลิตเสียเอง ลำพังเพียงกินดื่มก็ห้ามยากแล้ว

ด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มองว่ากฎกระทรวงฉบับใหม่นี้ ท้ายที่สุดประชาชนไม่สามารถผลิตได้แน่นอนซึ่งตอกย้ำชัดเจนว่าเป็นการเอื้อนายทุน หากปลดล็อกเงื่อนไขนี้ได้ ถึงจะเรียกว่าปลดล็อกที่แท้จริง โดยเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมสุราจะสามารถผลักดันซอฟต์ พาวเวอร์และการท่องเที่ยวของไทยได้

อย่างไรก็ตาม ตอนจบ “กฎหมายสุราก้าวหน้า” ไม่สามารถไปถึงสุดทางฝันได้ ความหวังที่จะเป็นทางเลือกในการเพิ่มอาชีพให้ชาวบ้าน หรือผู้ผลิตรายเล็กที่มุ่งมั่นตั้งใจคิดสูตรสุราของตัวเอง หวังสร้างรายได้อย่างภาคภูมิใจ ก็คงจะต้องหยุดชะงักลง แต่ก็เชื่อว่าได้สะท้อนปัญหาใหญ่ ซึ่งอยู่คู่กับสังคมไทยมาหลายชั่วอายุคน นั่นก็คือโครงสร้างแห่งการผูกขาดจากกลุ่มทุนใหญ่ที่ไม่ว่าจะเปลี่ยนหรือแก้กฎหมายกี่ฉบับ ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้…

BTimes