วัดใจ กนง. ประชุมนัดหน้า 10 เมษายน 67 จะต้านทานกระแสกดดันไหวไหม ลุ้นกันตัวโก่ง “ลด หรือ ไม่ลด ดอกเบี้ยนโยบาย” ถ้าไทยเดินทางถึงภาวะเงินฝืดทางเทคนิคแล้ว?

1976
0
Share:

วัดใจ กนง. ประชุมนัดหน้า 10 เมษายน 67 จะต้านทานกระแสกดดันไหวไหม ลุ้นกันตัวโก่ง “ลด หรือ ไม่ลด ดอกเบี้ย นโยบาย” ถ้าไทยเดินทางถึงภาวะเงินฝืดทางเทคนิคแล้ว?

หากนับถอยหลังก็จะเหลืออีกแค่เพียงไม่กี่วัน ที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 10 เม.ย.นี้ หลายฝ่ายยังคงจับตามองว่า กนง.จะตัดสินใจที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ เพราะช่วงที่ผ่านมากระแสกดดันจากทั้งภาคการเมือง เอกชน หรือแม้แต่ประชาชนเองก็คะยั้นคะยอ ให้ กนง. ลดเถอะ ถ้าเห็นแก่สภาพเศรษฐกิจและหนี้สินที่ประชาชนแบกอยู่ในมือปัจจุบัน

โดยในการประชุม กนง. ครั้งแรกของปี 2567 หรือในครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดยมี 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เสียงแตกแต่ไม่ดังโพล๊ะ หรือตู้มต้าม ให้ฝั่งที่รอความหวังว่าจะลดได้ดีใจ

ซึ่งในแต่ละครั้ง คุณเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้เหตุผลเสมอว่าเหตุใดจึงไม่ยอมปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะคำตอบที่ว่า “เศรษฐกิจไม่วิกฤต ถ้าลดดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควรจะเป็นการส่งสัญญาณผิด” ทำเอาหลายคนตั้งคำถามแล้วว่า “ยังไม่วิกฤตอีกหร้อออ?” แต่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เองก็ได้ยืนยันเสมอว่ารับทราบดีถึงผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่สูง มีผลต่อความยากลำบากของผู้ที่กู้หนี้ยิมสินอย่างไร เพราะจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่ได้ขยับลงให้ได้โล่งอก แต่สิ่งที่สะท้อนความคอนทราสต์ของคำตอบของผู้ว่าแบงก์ชาติ ก็คือเป็นห่วงว่าถ้าหากลดอัตราดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควร อาจเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน เพราะหนี้ครัวเรือนยังมากกว่า 90% ของจีดีพี

และถ้าหากมองภาพรวมของเศรษฐกิจปัจจุบัน การปรับลดดอกเบี้ย ไม่ได้ส่งผลลดภาระหนี้ของประชาชนได้ เพราะมีสัดส่วนไม่น้อย ดอกจากการลดดอกเบี้ยไม่ได้เป็นผล และอาจทำให้เกิดการกู้เพิ่ม จนหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอีก ที่สำคัญดอกเบี้ยเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จะต้องมีการอิงกับข้อมูล ภาพรวม และต้องดูผลเกี่ยวเนื่องระยะยาว ไม่ใช่แค่ผลระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเฟ้อ ตัวเลขจีดีพีต่างๆ สำคัญที่สุดคือ เสถียรภาพของระบบการเงิน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า ถึงแม้ว่าโดยรวมแล้วเศรษฐกิจจะเป็นไปในทิศทางฟื้นตัว แต่ล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดที่กระทรวงพาณิชย์รายงาน โดยยังติดลบ 0.47% นั้น ทำให้ขณะนี้สะท้อนถึงเงินเฟ้อของไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิค โดยเป็นผลมาจากราคาพลังงานที่รัฐบาลเข้าไปดูแล ทั้งดีเซล และไฟฟ้า ขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตร เช่น เนื้อสัตว์ และผัก–ผลไม้ ยังมีราคาย่อลง แสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบ นั่นจึงเป็นสัญญาณเงินฝืดทางเทคนิคแล้วนั่นเอง

ด้านศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กรุงไทย ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปี ซึ่งมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ จะหนุนให้ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ลง 2 ครั้งติดต่อกันสู่ระดับ 2.0%
แม้อัตราเงินเฟ้อในระยะข้างมีแนวโน้มกลับมาเป็นบวกในไตรมาสที่ 2 แต่คาดว่าทั้งปีเงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ต่ำกว่า 1% ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงกดดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวสูงยังมีน้อย ซึ่งก็ประเมินว่า กนง. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 10 เม.ย. 67 และวันที่ 12 มิ.ย. 67 เพื่อประคองเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าระดับศักยภาพในอดีตที่ 3%

ในขณะที่ผู้ว่าแบงก์ชาติกลับมองว่าปัจจัยเรื่องของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อติดลบ ยังไม่เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดการลดอัตราดอกเบี้ย เพราะจะดูแค่ตัวเลขบางส่วนไม่ได้ เนื่องจากเหตุที่เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง มาจากหลายสาเหตุ เช่น ภาคการผลิตชะลอลงและยังไม่ฟื้น ท่องเที่ยวดีขึ้นแต่นักท่องเที่ยวก็ระมัดระวังการใช้จ่ายเหมือนกัน การเบิกจ่ายรัฐยังล่าช้า เป็นต้น การลดดอกเบี้ยเพื่อหวังจะทิ้งบอมให้เศรษฐกิจฟื้นทันทีทันใดนั้น จึงเป็นไปได้ยาก หรือไม่ได้ช่วยอะไรมาก แต่ในทางกลับกัน แบงก์ชาติ หรือ กนง. กลับมองว่าจะเป็นไปกระตุ้นให้คนไปกู้เพิ่มซะมากกว่า

อาจารย์ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า กนง. เคยมีมองมุมว่าถ้าตัดเรื่องราคาพลังงานออก เงินเฟ้อทั่วไปยังใกล้เคียง 1% อยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1–3% และกนง. ยังมีแนวทางมาโดยตลอดว่า สัญญาณของเศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัวขึ้นจากการที่นโยบายการคลังจะมีการใช้จ่ายเงินปกติ และเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากปีที่แล้ว โดยคาดว่าปีนี้ขยายตัว 2.7% จากปีก่อน 1.9% ดังนั้น ยังไม่มีเหตุผลมากพอที่จะลดดอกเบี้ย ขณะเดียวกันค่าเงินบาทอยู่ที่ 36.80 บาท/ดอลลาร์ ยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ หากปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าสหรัฐฯ อาจทำให้ค่าเงินบาทอ่อนหลุด 37.00 บาท/ดอลลาร์ได้ เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และไทยจะห่างกันมากขึ้น

ถ้า กนง. ลดดอกเบี้ยในเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งมีผลให้เงินบาทอ่อน ก็จะเป็นแรงกดดันให้กองทุนน้ำมันมีหนี้เพิ่มมากขึ้น เกิดแรงกดดันต่อราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันสูงขึ้น อีกทั้งหากเงินบาทอ่อนค่ามาก จะยิ่งส่งผลต่อต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นด้วย ดังนั้นเชื่อว่า กนง. อาจเริ่มลดดอกเบี้ยหลังจากที่ประเทศอื่นๆ ทยอยลดไปแล้ว โดยเฉพาะหลังจากการลดดอกเบี้ยของเฟด

ด้านอาจารย์อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย คาดว่าในวันที่ 10 เม.ย.นี้ จะมีการ “ลดดอกเบี้ยลงทันที 0.25%” และปรับลดลงในการประชุมเดือน มิ.ย. อีก 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายลดลงเหลือ 2.0% ปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.50% ตามที่ประเมินไว้ว่า กนง.จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งในปีนี้ เพื่อจะประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดลงมากกว่าเดิม

ขณะที่คุณรุ่งสงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มองว่ากนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปีแต่ถ้ามีเสียงแตก ก็เชื่อว่าน่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเดือน มิ.ย. และ ส.ค. 67 ซึ่งจะเกิดขึ้นครั้งละ 0.25% โดย กนง. อาจต้องการรอดูข้อมูลจีดีพีไตรมาส 1 ซึ่งจะมีการประกาศออกมาในช่วงเดือน พ.ค. และแนวโน้มเศรษฐกิจหลังภาครัฐเบิกจ่ายงบเป็นสำคัญ รวมถึงเสถียรภาพค่าเงินบาท

อย่างไรก็ตาม ฟากฝั่งของการเมือง นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และการเมือง พรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ยังคงยืนยันที่ต้องการจะให้กนง. เดินหน้าลดดอกเบี้ย ตามแนวทางของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เพราะเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่ำมาก ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว และเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ปีนี้ก็จะไม่ดีเช่นกัน การขยายตัวน่าจะแย่กว่าไตรมาส 4 ปีที่แล้วด้วยซ้ำ เงินเฟ้อของไทยติดลบมา 5 เดือนติดกันแล้ว และอาจจะติดลบอีกเป็นเดือนที่ 6

ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี บอกอีกว่าการที่แบงก์ชาติอ้างว่านโยบายทางการเงินไม่ได้เป็นยารักษาโรคเฉพาะทางนั้น อาจจะถูกบางส่วนและไม่ถูกบางส่วน เพราะปัญหาเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน อีกทั้งปัญหาเศรษฐกิจของไทยเกิดขึ้นแทบทุกด้าน ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำ หนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง เงินเฟ้อติดลบมา 5 เดือน การส่งออกที่ขยายตัวได้น้อย การลงทุนที่หดหาย สภาพคล่องในระบบที่ลดลง ซึ่งเรื่องเหล่านี้นโยบายทางการเงินสามารถช่วยได้อย่างมาก โดยเฉพาะการลดดอกเบี้ย การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม รวมถึงการเพิ่มสภาพคล่องในระบบ ซึ่ง ธปท. น่าจะทราบดีอยู่แล้ว อย่าให้ข้อมูลที่ทำให้ประชาชนสับสนเหมือนรัฐบาลบังคับให้ ธปท. ออกยาเฉพาะทาง ทั้งที่ปัจจุบันปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้นหลายด้านเหมือนร่างกายที่ทรุดโทรมต้องการการฟื้นฟูทั้งระบบ และ ธปท. จำเป็นต้องช่วยกันแก้ไขเหมือนเป็นการรักษาร่างกายโดยรวม

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน 10 ครั้งล่าสุด กนง. ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 8 ครั้ง ติดต่อกัน ครั้งละ 0.25% ต่อปี จากระดับ 0.5% มาจนถึงระดับ 2.5% ต่อปี เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 66 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นการปรับขึ้นมาแล้ว 2% ต่อปี และการประชุม 3 ครั้ง หลังสุด เมื่อวันที่ 27 ก.ย. วันที่ 29 พ.ย. 66 และ วันที่ 7 ก.พ. 67 กนง.ได้มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ต่อปี ต่อเนื่องทั้ง 3 ครั้ง ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอ่อนค่าสลับผันผวนอย่างต่อเนื่อง

เอาเป็นว่าในวันที่ 10 เม.ย.ที่จะถึงนี้ เรามาลุ้นตัวโก่งไปพร้อมๆ กันว่าในท้ายที่สุด กนง. จะตัดสินใจอย่างไร ท่ามกลางแรงกดดัน และโจทย์ใหญ่ที่ต้องแบกรับร่วมกับรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ…

BTimes