เมื่อโควิดไม่ฉุกเฉิน ไทยเตรียมถอดการรักษาโควิด-19 ออกจาก UCEP 1 มีนาคมนี้

946
0
Share:

เมื่อ โควิด ไม่ฉุกเฉิน ไทยเตรียมถอดการรักษาโควิด-19 ออกจาก UCEP 1 มีนาคมนี้
จากกรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการถอดการรักษาโควิด-19 ออกจากยูเซป (UCEP COVID-19) หรือสิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐเพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งเท่ากับว่าโรคโควิด-19 จะกลายเป็นโรคที่ไม่ฉุกเฉิน จากกระแสข่าวที่ออกมาทำให้ประชาชนเกิดความกังวลว่าหลังจากนี้จะต้องรับมือกับการค่าใช้จ่ายในการรักษา ซึ่งมีราคาแพงด้วยตนเอง ส่งเป็นคำถามกลับไปว่ารัฐบาลตัดสินใจผิดจังหวะไปหรือเปล่า ?

1 มีนาคมนี้ อยากรักษาโควิด-19 ฟรี ต้องไปโรงพยาบาลตามสิทธิ์เท่านั้น

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้เสนอคณะกรรมการสถานพยาบาลให้ใช้กลไก UCEP ให้โรงพยาบาลทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนได้ร่วมกันดูแลผู้ป่วย แต่หลังจากมีแนวโน้มว่าจะยกเลิกสิทธิ UCEP ในวันที่ 1 มีนาคม 2565 ก็ทำเอาประชาชนกังวลใจเป็นอย่างมาก ก่อเป็นกระแสวิพากย์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างหนาหู ว่าขอไม่ให้รัฐถอดโรคโควิด-19 ออกจากโรคเจ็บป่วยฉุกเฉินได้หรือไม่ เพราะกังวลว่าหากติดโควิด-19 ประชาชนจะต้องรับภาระค่ารักษาเอง แล้วถ้าประชาชนที่ติดโควิด-19 ไม่มีเงินสำรองเพียงพอจะต้องทำเช่นไร

โดยข้อกังวลนี้ร้อนไปถึงกระทรวงสาธารณสุข เร่งออกมาชี้แจงกับประชาชนถึงสถานการณ์โควิด-19 ในระยะหลัง พบว่าผู้ติดเชื้อมีอาการไม่รุนแรง และ 80% แทบไม่มีอาการเลย บางเคสสามารถรักษาตัวที่บ้านได้ ไม่เข้าข่ายอาการวิกฤต แต่ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อมีอาการหนัก เช่น หมดสติ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย แขนขาอ่อนแรง เป็นต้น ยังสามารถรักษาด้วยสิทธิ์ UCEP ที่โรงพยาบาลใดก็ได้จนกว่าจะพ้นวิกฤต สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย และถ้าติดเชื้อก็ต้องรักษาตามสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิสวัสดิการข้าราชการ

ทางด้านเพจอาสาช่วยผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเพจเส้นด้าย โดยนายภูวกร ศรีเนียน รองประธานกรรมการมูลนิธิเส้นด้าย ก็ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การยกเลิก UCEP ทำให้ผู้ป่วยต้องกลับไปใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิส่วนบุคคล ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบัน กำลังเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม และยังไม่มีแนวโน้มลดลง แต่โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลสนาม กลับรองรับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ได้จำกัด อีกทั้งศูนย์พักคอยยังมีจำนวนไม่เพียงพอ รวมถึงความล่าช้าในการติดต่อประสานงานกับโรงพยาบาลก็ยังมีอยู่ ส่งผลให้ผู้ป่วยติดค้าง หรือตกค้างตามบ้าน ไม่ได้รับการตรวจรักษาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง อาการน่าเป็นห่วงก็เข้าสู่ระบบรักษาช้ากว่าที่ควรจะเป็น และอาจทำให้อาการลุกลามได้ในชั่วข้ามคืน

ทางด้านนายแพทย์ มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กแนะนำคนไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยสรุปว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนแพร่เร็วมากกว่าสายพันธุ์เดลตา 3 เท่า ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าการระบาดรอบก่อนหลายเท่า แต่ความรุนแรงของโรคลดลง อัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าเดิมอย่างน้อย 6 เท่า อาการของโรคส่วนใหญ่เหมือนไข้หวัดธรรมดา โดยเฉพาะคนที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ปัจจุบันโรคโควิด-19 ถูกจัดเป็นภาวะฉุกเฉินวิกฤต (UCEP Covid-19) รักษาฟรีได้ในทุกโรงพยาบาล และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียมยกเลิกโรคโควิด-19 จากภาวะฉุกเฉินวิกฤตรักษาได้ทุกที่ แต่หากไปโรงพยาบาลเอกชนต้องจ่ายค่ารักษาเอง ยกเว้นมีอาการฉุกเฉิน เช่น ไข้สูง หอบ เหนื่อย ไม่ค่อยรู้ตัว เนื่องจากรัฐแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว ซึ่งนายแพทย์มนูญก็เห็นด้วย เพราะรัฐต้องเก็บงบประมาณไว้ดูแลรักษาโรคอื่นๆ ด้วย แต่รัฐต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ และขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวลมากเกินไป

ทางด้าน ดร.สุวดี พันธุ์พานิช คณะทำงานด้านสาธารณสุข พรรคไทยสร้างไทย ไม่เห็นด้วยที่ยกเลิกการให้บริการวิกฤตฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19 หรือ UCEP-COVID19 ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมนี้ โดยขอให้ ศบค. คงสิทธิรักษาโควิด-19 ทุกที่เอาไว้ต่อไป จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นอย่างแท้จริง

ต่อจากนี้ หลังวันที่ 28 กุมภาพันธ์ การรักษาโควิด-19 จะไม่ใช่โรคฉุกเฉินอีกต่อไป หากต้องการรักษาฟรี ประชาชนต้องรักษาตามสิทธิของตนเอง ซึ่งก็ยังมีความน่าเป็นห่วงเช่นเดียวกัน เพราะเดือนกุมภาพันธ์ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวมผลจาก ATK สูงถึงเกือบสามหมื่นรายต่อวัน เมื่อยอดกลับมาสูงแบบนี้ จะมั่นใจได้อย่างไรว่าระบบสาธารณสุขไทยจะไม่วิกฤตเหมือนที่ผ่านมา… อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤต ย้ำว่าต้องเข้าข่ายอาการฉุกเฉินวิกฤตตามที่รัฐกำหนดเท่านั้น ถึงจะยังใช้สิทธิ UCEP ได้

ท้ายนี้ทีมงาน BTimes ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนปลอดภัย ปลอดโรคระบาด ดูแลสุขภาพ การ์ดไม่ตก ไปไหนก็สวมหน้ากากอนามัยกันด้วยนะคะ เป็นห่วงทุกคนค่ะ

BTimes