ไปต่อหรือพักก่อน! เปิด 10 ธุรกิจจะรุ่ง หรือ จะร่วง ในปี 2564

1216
0
Share:

ไปต่อหรือพักก่อน! เปิด 10 ธุรกิจดาวรุ่ง ธุรกิจดาวร่วง ในปี 2564

ผลพวงจากโรคระบาดโควิด-19 ในปี 2563 ส่งผลกระทบรุนแรงให้กับธุรกิจทั่วทุกแห่ง เรียกได้ว่าเงินหายกำไรหด แต่ก็มีบางธุรกิจที่โตสวนกระแสจนน่าตกใจเช่นกัน ซึ่งศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้รวบรวมข้อมูลเพื่อทำการวิจัย ผ่านการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจปีหน้า ที่คาดว่ามีโอกาสจะขยายตัวบนสถานการณ์การระบาดได้ พร้อมจัดอันดับเป็น 10 กลุ่มธุรกิจดาวรุ่ง และ 10 กลุ่มธุรกิจดาวร่วง

10 ธุรกิจที่ได้ไปต่อหรือควรพักก่อนในปี 2564
ขณะที่โควิด-19 กำลังพ่นพิษทำลายวงจรเศรษฐกิจอยู่ กลับมี 10 ธุรกิจดาวรุ่งที่สวมเกราะบุกเต็มที่เพื่อสร้างการอยู่รอด โดยธุรกิจที่ว่านั้นมีดังนี้
1. ธุรกิจการให้บริการทางการแพทย์และความงาม ธุรกิจที่ทำการซื้อขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ
2. ธุรกิจแพลตฟอร์ม ธุรกิจจัดทำคอนเทนต์ ธุรกิจยูทูปเบอร์ และการรีวิวสินค้า
3. ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต
4. ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ ยา และเวชภัณฑ์
5. ธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีวิเคราะห์และจัดการข้อมูล
6. ธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม ธุรกิจอาหารเสริม และสุขภาพ
7. ธุรกิจสตรีทฟู้ด และฟู้ดทรัค
8. ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ และเดลิเวอรี่ ธุรกิจด้านฟินเทค และการชำระเงินผ่านระบบเทคโนโลยี
9. ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เช่น ร้านสะดวกซัก เครื่องเติมเงิน เครื่องเติมน้ำ
10. ธุรกิจที่ปรึกษาด้านกฎหมาย บัญชี ธุรกิจออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์แพ็กเกจจิ้ง

พบกับธุรกิจดาวรุ่งไปแล้ว ก็ตามต่อด้วย 10 ธุรกิจดาวร่วงที่โดนโควิดเล่นงานจนมีอาการโคม่า ดังนี้
1. ธุรกิจเช่าหนังสือ
2. ธุรกิจผลิตโทรศัพท์พื้นฐานและเครื่องโทรสาร ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ความจำ Storage media อาทิ CDs, DVDs, Blu-Ray Discs, External Hard Drives, Memory Cards
3. ธุรกิจสิ่งพิมพ์และวารสาร
4. ธุรกิจร้านอินเทอร์เน็ต
5. ธุรกิจดั้งเดิมที่ไม่มีดีไซน์ เน้นใช้แรงงาน
6. ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ใช้แรงงานจำนวนมากและขายในประเทศ ธุรกิจหัตถกรรม เฟอร์นิเจอร์ไม้
7. ธุรกิจซ่อมรองเท้า
8. ธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาและเซรามิก
9. ธุรกิจผลิตผักและผลไม้อบแห้ง
10. ธุรกิจร้านถ่ายรูป

ปัจจัยที่บั่นทอนการดำเนินธุรกิจในปี 2564
ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกรวมประเทศไทยยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าที่จะเบาบางลง ถึงแม้ว่าจะเริ่มมีวัคซีนป้องกันเกิดขึ้นแล้วก็ตาม กอปรกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศยังคงมีความเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีแรกที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าปกติ และมีแนวโน้มจะแข็งค่าต่อเนื่อง อันมีสาเหตุมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงหนี้เสีย (NPL) ของสถาบันการเงินที่ส่อแววจะเพิ่มสูงขึ้น และความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามมาเช่นกัน

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วต้องขอบอกว่าอย่าเครียดกันนะคะ เพราะข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงผลวิจัยที่รวบรวมมาเพื่อนำเสนอให้เห็นถึงแนวโน้มอาชีพที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย และทีมงาน BTimes เชื่อว่า ถ้าทุกคนงัดสารพัดไอเดียสุดครีเอทออกมาสร้างกลยุทธ์ พร้อมปรับตัวดึงความสามารถของเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อพัฒนาให้สินค้าและบริการให้มีความดึงดูด และตอบโจทย์ผู้บริโภค ก็จะสามารถอยู่รอด และผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้แน่นอนค่ะ สู้ๆ นะคะ BTimes เป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ

BTimes