งัด “บุหรี่ไฟฟ้า” ขึ้นบนดิน แก้กฎหมายประชัน “กระท่อม-กัญชา” ใช่หนทางอุดช่องโหว่ล้างระบบส่วยได้จริงหรือ?

554
0
Share:

งัด “บุหรี่ไฟฟ้า” ขึ้นบนดิน แก้กฎหมายประชัน “กระท่อม-กัญชา” ใช่หนทางอุดช่องโหว่ล้างระบบส่วยได้จริงหรือ?

จุดไฟกันขึ้นมาอีกครั้งกับ “บุหรี่ไฟฟ้า” ในบ้านเรา หลังจากประเด็นร้อนแรง “นักแสดงสาวชาวไต้หวัน” ถูกจับปมการพก “บุหรี่ไฟฟ้า” จนโยงใยไปยังการเรียกเก็บส่วยจากพี่ตำรวจบ้านเรา ซึ่งอาจจะเกิดคำถามกันขึ้นมาถึงความย้อนแย้งของกฎหมายไทย เพราะทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นตลาด สถานที่ท่องเที่ยว ก็มีขายกันเกลื่อน แต่ทำไมนักท่องเที่ยวที่พกมาเองไหงโดนจับได้ซะนี่

หากย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อนรัฐประหารปี 2557 บุหรี่ไฟฟ้ายังไม่ได้รับความนิยมมากเท่าปัจจุบัน มีการใช้กันเพียงบางกลุ่มเท่านั้น อีกทั้งบุหรี่ไฟฟ้าที่เข้ามาก่อนปี 2557 ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย เพราะยังไม่มีกฎหมายควบคุมชัดเจน แต่เมื่อมาถึงยุค “รัฐบาลลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นรัฐก็ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2557 จึงทำให้บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย

แต่ในข้อกฎหมายดันมีความกำกวมอยู่หลายข้อ อีกทั้งยังไม่มีมาตราใดที่กำหนดความผิดฐาน “ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า” โดยตรง แต่ตำรวจและอัยการ สามารถใช้ความผิดจากมาตราอื่น เพื่อดำเนินความผิดผู้ครอบครองได้ ซึ่งกลับกลายเป็นช่องโหว่ ให้ตำรวจ(เลว)ทุจริต เรียกเก็บส่วยจากนักท่องเที่ยว โดยใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นข้ออ้างงามหน้างามตากันทั้งเมือง

หากจะไปดูในข้อกฎหมายเกี่ยวกับความผิดของบุหรี่ไฟฟ้าหลายข้อ ซึ่งในข้อกฎหมายมักจะเอาผิดกับผู้นำเข้า การผลิต การจำหน่ายชัดเจน ส่วนของผู้ครอบครองแม้จะไม่มีความผิดโดยตรง แต่ดันไปเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 246 ตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ตามข้อกฎหมายด้านล่างนี้

*** กฎหมายระบุว่า การครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า: หากพบบุคคลใดว่าครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ตำรวจสามารถใช้มาตรา 246 ว่าด้วย ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้ ซึ่งของที่รู้ว่าเป็นความผิดตามมาตรา 242 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ 4 เท่าของราคาของ หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนอีกประเด็นที่คาดว่ายิ่งทำให้ “บุหรี่ไฟฟ้า” แพร่หลายนั่นก็คือการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ในปี 2564 โดยได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในการปรับกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และโครงสร้างภาษีบุหรี่ ซึ่งทำให้ราคาขายบุหรี่ปรับสูงขึ้น โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ส่งผลให้จากเดิมเก็บภาษีมวนละ 1.20 บาท หรือซองละ 24 บาท จัดเก็บเพิ่มเป็นมวนละ 1.25 บาท หรือซองละ 25 บาท ทำให้มีการขยับทั้งอัตราภาษีและฐานราคาขายปลีกใหม่ ที่เดิมบุหรี่ราคาขายปลีกไม่เกินซอง 60 บาท เสียภาษี 20% จะปรับเพิ่มเป็นบุหรี่ขายปลีกไม่เกินซอง 72 บาท เสียภาษีเพิ่มเป็น 25% ส่วนบุหรี่ที่มีราคาขายปลีกเกินซอง 72 บาท เช่น กลุ่มบุหรี่นอก จะเสียภาษีเพิ่มจาก 40% เป็น 42% ด้วยราคาที่แพงขึ้นก็อาจจะมีส่วนทำให้บุหรี่ไฟฟ้าแพร่หลายมากตามมาขึ้นด้วย แม้จะมีนัยว่าต้องการลดปริมาณสิงห์รมควันในบ้านเรา แถมยังเก็บรายได้เข้าคลังได้มากขึ้นก็ตาม

คำถามที่อาจจะมีหลายคนอยากถามนั่นก็คือ ถ้างั้นเราควรจะนำบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมาบนดิน ทำเป็นเรื่องถูกกฎหมาย กำหนดภาษีให้เหมือนกับบุหรี่มวนไปเลยดีกว่าไหม? เชื่อแน่ว่ามีกลุ่มคนที่มีรสนิยมชื่นชอบการใช้บุหรี่ไฟฟ้า มีเงินซื้อแต่ติดตรงข้อกฎหมาย เมื่อมีการตีความกฎหมายออกมาในรูปแบบเคสของ สน.ห้วยขวาง ก็ยิ่งทำให้เกิดช่องโหว่ เกิดอาชีพแฝงในคราบเครื่องแบบ เรียกค่าน้ำชา ส่วยหรือสินบน ก็ตามแต่ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติคือเหยื่อดีๆ นี่เอง

ในขณะที่ต่างประเทศ มีที่ “บุหรี่ไฟฟ้า” พกพาสะดวกเพราะถูกกฎหมายแล้ว เช่น ญี่ปุ่น อิตาลี จีน แคนาดา เกาหลีใต้ และไต้หวัน เป็นต้น ส่วนไทยเป็นหนึ่งใน 26 ประเทศที่กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไน และกัมพูชา เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ช่วงปี 2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมนุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เคยมีแนวคิดที่จะนำบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นบนดิน โดยบอกว่ากำลังศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า เพราะมองว่าการทำให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายจะสามารถลดอันตรายแก่ผู้สูบได้ พร้อมระบุว่าเครื่องยาสูบที่เป็นไฟฟ้าถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ของ 67 ประเทศทั่วโลกมีการยอมรับแล้ว รวมทั้งยังหยิบยกเหตุผลว่าเนื่องจากโรงงานยาสูบและผู้ปลูกยาสูบเองก็มีรายได้ลดลง เพราะคนนิยมไปสูบบุหรี่นำเข้า หรือบุหรี่ที่ลักลอบนำเข้ามาแทน เป็นการเสนอทางหารายได้ ว่างั้น?

และล่าสุด เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา นายชัยวุฒิ ก็ได้ให้สัมภาษณ์ย้ำแนวคิดของตนเองอีกครั้ง ว่าประเด็นสำคัญคือต้องทำเรื่องนี้ให้ถูกกฎหมาย หากคิดว่าเป็นเรื่องวิถีชีวิตประชาชนและสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นสิ่งที่คนส่วนมากยอมรับได้ ก็ควรจะทำให้ถูกกฎหมาย และให้มีการขายและเก็บภาษีให้ถูกต้อง เพื่อเอาภาษีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดูแลพี่น้องประชาชนในเรื่องอื่น ลดภาระประชาชน ไม่ทำกฎหมายให้ขัดต่อวิถีชีวิตประชาชน มันจะแก้ปัญหาเรื่องส่วยและแก้ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชัน เพราะจะเปลี่ยนส่วยเป็นภาษีและเอาภาษีมาแก้ปัญหาในเรื่องอื่นได้ด้วย

“ประเทศที่พัฒนาแล้วเกือบทุกประเทศอนุญาตให้มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นประเทศไทย ควรจะพิจารณาตามความเหมาะสมอย่าดัดจริตทำไม่ได้แต่ก็พยายามฝืนให้ทำ อย่าฝืนอะไรที่ทำไม่ได้เลยครับ” นายชัยวุฒิกล่าว

แน่นอนว่าย่อมมีเสียงค้านจากฝ่ายไม่ส่งเสริม ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้บุหรี่ทุกรูปแบบ บางคนใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อต้องการเลิกบุหรี่มวน แต่หน่วยงานด้านสุขภาพต่างๆ กลับออกมาบอกว่า จริงๆ แล้วเกิดอันตรายได้เหมือนกัน จากน้ำยาที่เรียกว่า “นิโคติน” ที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดความดันโลหิต มะเร็งปอด โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ หรือโรคหัวใจ และอีกมากมายที่แพทย์ออกมาเตือน ที่สำคัญไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้จริง กลับทำให้เพิ่มความอยากหรืออัตราการสูบมากขึ้นด้วย

อ้าว! แล้วทีกัญชากับกระท่อมยังถูกกฎหมายได้เลย? เชื่อว่าเป็นอีกคำถามที่ค่อนข้างย้อนแย้งกับข้อกฎหมายไทย ที่สิ่งที่น่ากลัวต่อเยาวชนและสังคมมาช้านาน กลับดันถูกเข็นให้ขึ้นฟ้าได้ แต่ไม่ว่าใดๆ ก็ตาม สิ่งที่หลายหน่วยงานควรหันหลังกลับไปมองนั่นคือ ‘ความแข็งแรงของกฎหมายไทย’ เพราะไม่ว่าจะแก้กฎหมายอีกกี่ร้อยกี่พันฉบับ แต่สุดท้ายแล้วยังมีช่องโหว่ให้บรรดานายทุน หรือแม้แต่ข้าราชการชั้นผู้น้อย-ใหญ่หาทางทำมาหากินแบบไม่สุจริต ก็สร้างความเสียหายได้เหมือนกัน แถมยังเสื่อมเสียภาพลักษณ์เมืองท่องเที่ยวอีกด้วย หากต่างชาติพากันหนี ทีนี้เม็ดเงินลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจที่วาดฝันอาจไม่ถึงฝั่ง เหลือไว้แต่ทุนสีเทาที่ไม่ได้ช่วยระบบเศรษฐกิจไทยจริงๆ หรือไม่ อันนี้สิน่าคิด ว่าไหม?

BTimes