ถอดบทเรียนดรามา “ปังชา” ลายแทงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร คุ้มครองถึงขั้นไหน ที่คนไทยอาจยังไม่รู้

1374
0
Share:

ประเด็นร้อนแรงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาต้องยกให้ดรามาขนมดัง “ปังชา – ลูกไก่ทอง” ที่ถูกจุดประเด็นจากโพสต์ต้นทางเฟซบุ๊ก Lukkaithong – ลูกไก่ทอง Thai Royal Restaurant ซึ่งประกาศห้ามคำใช้ว่า “ปังชา” โดยอ้างว่าได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว ย้ำพ่อค้า–แม่ค้า ร้านของหวานทั่วไป ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข เด็ดขาด รวมไปถึงยังขอสงวนสิทธิ์ ห้ามนำชื่อแบรนด์ปังชา Pang Cha ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไปใช้เป็นชื่อร้านหรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย ส่งเรื่องนี้ขึ้นแท่นประเด็นร้อนที่บรรดาชาวโซเชียลยกขึ้นมาถกกันเป็นวงกว้าง ลุกลามไปยังร้านน้ำแข็งไส ไอศกรีม ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าจะยังสามารถใช้คำว่า ‘ปังชา’ หรือทำเมนูขนมหวาน บิงซูชาไทย น้ำแข็งไสรสชาไทย ในลักษณะเดียวกันแบบนี้ได้อีกหรือไม่ ?

หลังจากที่ร้านได้ทำการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “ปังชา” ก็ปรากฎว่ามีผู้ประกอบการรายอื่นได้รับโนติส หรือมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ และทรัพย์สินทางปัญญา กรณีที่ใช้ชื่อ “ปังชา” ในเมนูของร้านด้วย โดยร้านปังชาเชียงรายได้ออกมาให้ข้อมูลว่าตนเป็น 1 ในบุคคลที่ถูกร้านดังยื่นฟ้อง ยิ่งได้เห็นมูลค่าที่ถูกเรียก ต้องบอกว่าลมแทบจับ เพราะมีมูลค่าสูงถึง 102 ล้านบาท จากสาเหตุที่ใช้คำว่า “ปังชา” ในการขาย ซึ่งเมื่อเกิดเรื่องเจ้าของร้านยอมรับว่ารู้สึกเครียดเป็นอย่างมาก จนต้องยอมเปลี่ยนชื่อร้าน ตอกย้ำให้เรื่องนี้ถูกตีเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่อง ยาวเหยียดเถียงกันไปกันมาถึงต้นฉบับ หรือผู้ถือกำเนิดเมนู ขนมหวานสไตล์ไทยนี้

ภายหลังจากประเด็นดังกล่าวร้อนแรงติดเทรนด์ได้ไม่นาน นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ก็ได้ออกมาให้ข้อมูลแล้วว่าเคสดังกล่าว ผู้ประกอบการคือร้าน “ลูกไก่ทอง” ได้จดทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา 2 อย่าง คือ
1. “เครื่องหมายการค้า” ซึ่งหมายถึง “โลโก้” รูปลูกไก่ (ที่เห็นคล้ายตัว g) และคำว่า “Pang Cha” ภาษาอังกฤษ ที่อยู่ในโลโก้ หมายความว่า ผู้ประกอบการเจ้าอื่นจะนำโลโก้ และคำว่า Pang Cha ทั้งรูปแบบนี้ไปใช้ไม่ได้ รูปลูกไก่อย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่คำว่า “ปังชา” คำเดียว ใครก็ใช้ได้ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
2. “ภาชนะ หรือ ชาม” จดสิทธิบัตรออกแบบ ร้านอื่นสามารถขายน้ำแข็งไสชาไทยได้ แต่ห้ามใช้ภาชนะลักษณะเดียวกันนี้

“ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ยังสามารถใช้คำว่า ‘ปังชา’ หรือ ‘Pang Cha’ ได้ และสามารถขาย ‘เมนูน้ำแข็งไสรสชาไทย’ ต่อไปได้ ไม่ผิดกฎหมาย เพียงแต่ให้ระมัดระวังการจัดวางในลักษณะเดียวกันกับที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าได้จดทะเบียนเอาไว้ รวมถึงภาพและคำในรูปแบบเดียวกัน เพราะจะเข้าข่ายละเมิดเครื่องหมายการค้า” อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาอธิบาย

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่วายจะมีดรามาต่อเนื่อง จากกรณีข้อพิพาทระหว่างร้านปังชารายอื่นๆ กับ “ร้านลูกไก่ทอง” เพราะบางรายที่ได้รับโนติสเป็นเพียงร้านค้ารายเล็กๆ ที่เพิ่งเปิดธุรกิจแบบเดียวกัน โดยการอ้างสิทธิ์เครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตรนั้นก็ทำให้เกิดกระแสต่อต้านแบรนด์ลูกไก่ทองมากขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเป็นร้านดังกล่าวเป็นร้านใหญ่ แต่ดันมารังแกร้านเล็กๆ คนทำมาหากินด้วยกันไปทำไม สุมให้ดรามานี้ยังคงไม่จบง่ายๆ

และในวันศุกร์ (1 ก.ย.) ที่ผ่านมา ดูเหมือนเรื่องนี้จะยิ่งร้อนทะลุปรอทขึ้นไปอีกขั้น ดันให้แฮชแท็ก #ปังชา พุ่งติดเทรนด์โซเชียลฮิตอย่างเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) ในลำดับต้นๆ เมื่อรายการโหนกระแส ได้หยิบยกเอาประเด็นร้อนนี้มาคุยอีกครั้ง โดยได้เชิญเจ้าของร้าน “ลูกไก่ทอง” และคู่กรณีที่โดนยื่นโนติส มาร่วมพูดคุยกับฝั่งของทนายความของทางร้าน และมีคนกลางอย่าง คุณทักษอร สมบูรณ์ทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา มาร่วมให้ความรู้ในเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

ซึ่งคุณทักษอร ในฐานะนักกฎหมายของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ให้ความรู้ในเรื่องลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า ได้อย่างละเอียด ชัดเจนว่า “เครื่องหมายการค้า” ไม่สามารถใช้คำที่บ่งบอกถึงคุณสมบัติของตัวสินค้าได้ เช่น ใช้แล้วขาว ใช้แล้วสวย ตรงนี้ใส่ไม่ได้ เพราะคนอื่นที่เขาขายสินค้าสิ่งเดียวกัน ต้องมีสิทธิ์จะใช้ข้อความเหล่านั้นได้เช่นกัน จะสงวนสิทธิ์ไม่ได้ แต่การจดเครื่องหมายการค้า จะแยกบางส่วน ส่วนใดส่วนหนึ่งออกมาไม่ได้ การจดทะเบียนของร้านลูกไก่ทอง เป็นการจดทั้งหมด ทั้งโลโก้ตัว G ประดิษฐ์เป็นลูกไก่ แล้วมีคำว่า Pang Cha ปังชา เหล่านี้จะแยกบางส่วนออกมาสงวนสิทธิ์ไม่ได้ ดังนั้น ทำให้ร้านค้าอื่นๆ ใช้คำว่า “ปังชา” หรือ “Pang Cha” ได้เหมือนเดิม ซึ่งในเรื่องนี้ทางร้านลูกไก่ทองก็ยอมรับแต่โดยดี

สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับโนติส ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาเองก็ได้แนะนำว่าสามารถปรึกษาศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม และสำนักป้องกันและระงับทรัพย์สินทางปัญญา ที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยคู่กรณีได้

อย่างไรก็ดี เคสดรามา “ปังชา” อาจจะกลายเป็นกรณีศึกษาทั้งในเรื่องของกฎหมาย การทำธุรกิจ และบทเรียนครั้งใหญ่ของคนทำแบรนด์ก็ว่าได้ เพราะต่อให้เมนู “ปังชา” ของลูกไก่ทองจะได้รับความนิยม จนมีชื่อเสียงโด่งดัง และคว้า Michelin Guide Thailand มาครองได้ถึง 5 ปีซ้อน แต่อย่าลืมว่าความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ หรือความรู้สึกของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถกำหนดชะตาชีวิตของสินค้าหรือแบรนด์ได้ แถมยังเป็นการทำลายความไว้ใจของแบรนด์ชัดเจน เรียกได้ว่าสร้างมาดีตั้งนาน แต่กลับพังไม่เป็นท่า เพียงเพราะอยากรักษาเครื่องหมายการค้าของตนไว้ แต่อาจจะเข้าใจในเรื่องกฎหมายได้ไม่ทั้งหมด จนลุกลามถึงขั้นยื่นความหวาดกลัวผ่านโนติสและมูลค่าที่ระบุในเอกสารไปยังผู้ประกอบการรายย่อย เกิดเป็นแผลสดลามไปถึงความรู้สึกของผู้บริโภคโดยรวม

บทสรุปสุดท้ายอาจจะเปรียบเป็นบทเรียนให้กับใครหลายคนที่ทำธุรกิจ หรือคิดจะทำธุรกิจ ที่เพียงเพราะจุดผิดพลาดจากความเข้าใจ โดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมาย อาจนำพาไปยังจุดที่สร้างความ ปัง(พัง)พินาศให้กับธุรกิจ เพราะสามารถสร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของแบรนด์ได้มหาศาลและขยายไปเป็นวงกว้าง และสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจในที่สุด…

BTimes