‘พาราลิมปิก’ เกมส์กีฬาที่ยิ่งใหญ่ และสนุกสุดใจไม่แพ้การแข่งขันโอลิมปิก

869
0
Share:

‘พาราลิมปิก’ เกมส์กีฬาที่ยิ่งใหญ่ และสนุกสุดใจไม่แพ้การแข่งขันโอลิมปิก
สำหรับคนปกติ การเดินเหินธรรมดาบางครั้งยังดูยากลำบาก ยิ่งถ้าต้องสูญเสียอวัยวะใดไปยิ่งไม่ต้องพูดถึง แต่ทั้งหมดนั้นหาใช่อุปสรรคของนักกีฬาพาราลิมปิกไม่ ซึ่งจะเห็นได้จากการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ครั้งที่ 16 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม – 5 กันยายน 2564 โดยในปีนี้มีนักกีฬาตัวแทนประเทศไทยร่วมเข้าชิงชัยเพื่อต่อสู้กับขีดจำกัดของตัวเองทั้งหมด 77 คน ใน 14 ชนิดกีฬา จากทั้งหมด 22 ชนิดกีฬา 539 ประเภท และมีนักกีฬาทั่วโลกถึง 168 ประเทศเข้าร่วมแข่งขันกว่า 4,400 คน

หลังจากเทศกาลกีฬาระดับโลกโตเกียวโอลิมปิก 2020 จบลงไปอย่างสวยงาม และก็ต้องยอมรับจริงๆ ว่าญี่ปุ่นจัดเต็มได้อย่างสมศักดิ์ศรีการเป็นเจ้าภาพ จนสร้างความประทับใจและได้รับคำชื่นชมจากผู้คนทั่วโลก และถึงแม้การจัดงานจะมีข้อจำกัดมากมายภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้การแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกต้องถูกเลื่อนจากปี 2020 มาเป็นปี 2021 แต่นั้นก็ไม่ได้ทำให้ความมุ่งมั่นตั้งใจของเหล่านักกีฬาชาวไทยในการคว้าเหรียญลดน้อยลงเลย ซึ่งปีนี้ทัพนักกีฬาคนพิการไทยได้สิทธิ์เข้าชิงชัยเป็นจำนวนมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา อีกทั้งการที่จะสามารถเป็นตัวแทนนักกีฬาคนพิการ เพื่อไปแข่งขันในสนามพาราลิมปิกได้นั้น ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด คือต้องมีความบกพร่องใน 3 ประเภทหลัก ดังนี้

1. ความบกพร่องทางร่างกาย

2. ความบกพร่องทางการมองเห็น

3. ความบกพร่องทางสติปัญญา เฉพาะนักกีฬาระดับอีลิท

ทั้งนี้ สำหรับนักกีฬาที่มีความบกพร่องทางสติปัญญายังมีการแข่งขันอีกรายการรองรับ ได้แก่ รายการสเปเชียลโอลิมปิก (Special Olympic) รวมถึงการคัดเลือกและฝึกซ้อมนักกีฬาคนพิการยังใช้เกณฑ์ หรือรูปแบบเดียวกับนักกีฬาที่มีร่างกายปกติอีกด้วย

การจะได้เป็นนักกีฬาเพื่อเป็นตัวแทนไปแข่งนั้น จะต้องผ่านบททดสอบทั้งด้านร่างกายและจิตใจมากมาย โดยเฉพาะนักกีฬาคนพิการแล้วนั้น อาจจะเรียกได้ว่าต้องใช้ความเข้มแข็งทางด้านจิตใจมากกว่าคนปกติ เพราะต้องก้าวผ่านขีดความสามารถทางด้านร่างกายของตัวเองให้ได้ แต่ดูเหมือนว่าคนกลุ่มนี้จะยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร เห็นได้ชัดจากการอัดฉีดเงินรางวัลระหว่างนักกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกที่ไม่เท่ากัน โดยกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติได้เปิดเผยค่าตอบแทนที่นักกีฬาจะได้รับหากคว้าเหรียญในการแข่งขัน ดังนี้

เหรียญทอง หากเป็นนักกีฬาโอลิมปิก จะได้ 12 ล้านบาท / นักกีฬาพาราลิมปิก จะได้ 7.2 ล้านบาท

เหรียญเงิน หากเป็นนักกีฬาโอลิมปิก จะได้ 7.2 ล้านบาท / นักกีฬาพาราลิมปิก จะได้ 4.8 ล้านบาท

เหรียญทองแดง หากเป็นนักกีฬาโอลิมปิก จะได้ 4.8 ล้านบาท / นักกีฬาพาราลิมปิก จะได้ 3 ล้านบาท

จึงเกิดคำถามตามมาว่า สาเหตุใดเงินอัดฉีดระหว่างนักกีฬา 2 กลุ่มนี้ถึงแตกต่างกัน เพราะเมื่อพูดถึงความทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจของนักกีฬาแล้วนั้น ถือว่าไม่ได้แตกต่างกันเลย ทุกคนล้วนมีความตั้งใจและเต็มที่ในทุกๆ การแข่งขันเช่นเดียวกัน แต่ทำไมค่าตอบแทนสำหรับความพยายามถึงไม่เท่ากัน อีกทั้งการสนับสนุนในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการโปรโมต หรือการให้ความสนใจ หรือแม้แต่แสงสปอตไลท์ที่ส่องให้ตัวแทนคนไทยกลุ่มพาราลิมปิก เพื่อให้เขามีกำลังใจไปต่อสู้และคว้าชัยชนะกลับมา เป็นความสุขให้คนไทยเหมือนเช่นการแข่งขันโอลิมปิกก็ดูจะแตกต่างเช่นเดียวกัน

ทุกวันนี้ต้องยอมรับจริงๆ ว่าไม่ว่าจะหันไปทางไหน เปิดทีวีช่องใด หรือแม้แต่การไถฟีดโซเชียลก็จะพบกับข่าวโควิด-19 ที่น่ากังวลจนทำให้ใครหลายคนเกิดความเครียดสะสม ดังนั้นลองเปลี่ยนบรรยากาศมารับชมกีฬา และร่วมส่งกำลังใจ และเสียงเชียร์ให้กับทัพนักกีฬาพาราลิมปิกไทย เพื่อให้เขารับรู้ว่ายังมีคนไทยอีกหลายคนคอยเป็นกำลังใจให้พวกเขาเสมอ เพราะพาราลิมปิกไม่ใช่เพียงเกมส์กีฬา แต่เป็นเวทีของฮีโร่หัวใจเหล็ก ทีมงาน BTimes ขอเป็นกำลังใจให้พี่ๆ นักกีฬาทุกคน ทุกคนเก่งมากๆ ค่ะ สู้ๆ นะคะ

BTimes