วนกลับมาอีกครั้งสำหรับหน้าที่ของประชาชนไทยผู้มีรายได้ โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนผู้แข็งแกร่งที่ถึงช่วงเวลาต้องยื่นภาษีประจำปีในรอบปีภาษี 2567 กันแล้ว
<เช็กก่อน! เงินเดือนเท่าไร ถึงเสียภาษี?>
ตามกฎหมาย กรรมสรรพากรได้กำหนดเงินได้พึงประเมินขั้นต่ำ (ต่อปี) ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- คนโสด
– มีเงินได้เงินเดือนประเภทเดียว เกิน 120,000 บาท (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91)
– มีเงินได้ประเภทอื่นนอกจากเงินเดือน เกิน 60,000 บาท (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90) - ผู้ที่มีคู่สมรส
– มีเงินได้เงินเดือนประเภทเดียว ไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายรวมกัน เกิน 220,000 บาท (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91)
– มีเงินได้ประเภทอื่นนอกจากเงินเดือน ไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายรวมกัน เกิน 120,000 บาท (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90)
สำหรับกองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง มีเงินได้เกิน 60,000 บาท (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90)
ส่วนคณะบุคคล/ห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่มิใช่นิติบุคคล/วิสาหกิจชุมชน มีเงินได้เกิน 60,000 บาท (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90)
<คิดอัตราภาษีแบบขั้นบันได>
โดยสรรพากรได้กำหนดอัตราภาษีแบบขั้นบันไดไว้ในการคำนวณอัตราภาษี ซึ่งรายได้สุทธิ (หลังหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อน) จะถูกคำนวณภาษีตามอัตราข่างล่างนี้
0 บาท – 150,000 บาท : ยกเว้นภาษี
150,001 บาท – 300,000 บาท : ร้อยละ 5
300,001 บาท – 500,000 บาท : ร้อยละ 10
500,001 บาท – 750,000 บาท : ร้อยละ 15
750,001 บาท – 1,000,000 บาท : ร้อยละ 20
1,000,001 บาท – 2,000,000 บาท : ร้อยละ 25
2,000,001 บาท – 5,000,000 บาท : ร้อยละ 30
เกิน 5,000,000 บาท : ร้อยละ 35
<ยื่นแบบภาษีได้ตอนไหน?>
กรมสรรพากรเปิดให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ประจำปีภาษี 2567 ได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา กรณียื่นแบบภาษีรูปแบบกระดาษ สามารถยื่นได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่ง ยื่นได้ไปจนถึง 31 มีนาคม 2568
<ยื่นภาษีได้ 2 ช่องทาง>
(1) ยื่นที่สำนักงานสรรพากร
หากต้องการความยุ่งยาก(บ้าง) อยากใช้เวลาอยู่บนรถและท้องถนน ก็สามารถไปยื่นที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ได้ โดยในเขตกรุงเทพมหานคร ยังสามารถยื่นภาษีรายได้ที่
- สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (เดิมเรียกว่า สํานักงานสรรพากรเขต/อําเภอ)
- ที่ทําการไปรษณีย์สําหรับการยื่นแบบ โดยสามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน พร้อมแนบเช็ค (ประเภท ข. ค. หรือ ง.) หรือธนาณัติ (ตามจํานวนเงินภาษีที่ต้องชําระทั้งจํานวน) ส่งไปยังที่อยู่ กองบริหารการคลังและรายได้ กรมสรรพากร อาคารกรมสรรพากร เลขที่ 90 ซอยพหลโยธิน 7 ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
ทั้งนี้ กรมสรรพากรจะถือเอาวันที่ลงทะเบียนไปรษณีย์เป็นวันรับแบบและชําระภาษี และจะส่งใบเสร็จรับเงิน ให้แก่ผู้ยื่นแบบทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
ส่วนใน ต่างจังหวัดสามารถยื่นภาษีรายได้ที่ สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (เดิมเรียกว่า สํานักงานสรรพากรเขต/อําเภอ)
โดยมีเอกสารที่ต้องเตรียม ดังนี้
- แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.91 หรือ ภ.ง.ด.90
- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
- เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อนภาษี เช่น หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต หนังสือรับรองการจ่ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ
- เอกสารยืนยันสิทธิค่าลดหย่อนบิดามารดา (ใบ ล.ย. 03)
นอกจากเตรียมเอกสารเพื่อยื่นภาษีแล้ว ต้องเตรียมเงินเพื่อชำระเงินภาษี และเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามกฎหมายสรรพากร ดังนี้
- ยื่นเกินกำหนดเสียค่าปรับ 2,000 บาท กรมสรรพากร ระบุว่าเตือนเรื่องค่าปรับกรณียื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เมื่อเกินกำหนดเวลาต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถขอลดค่าปรับได้
- ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 /91 ผ่านอินเทอร์เน็ต กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ หากมิได้ชำระเงินภาษีภายในวันที่ 31 มี.ค.ของทุกปี ถือว่ามิได้ยื่นแบบ ท่านต้องไปยื่นแบบ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1
- ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เกินกำหนดเวลา
– กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1
– กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระค่าปรับเพียงอย่างเดียว - ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพิ่มเติมภายหลังกำหนดเวลาการยื่นแบบ
– กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ
– กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและค่าปรับ - ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ขอผ่อนชำระเงินภาษี หากมิได้ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในกำหนดเวลา จะหมดสิทธิ์การผ่อนชำระและต้องชำระภาษีอากรที่ค้างอยู่ทั้งหมด โดยต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ
(2) ยื่นภาษีออนไลน์
ใครที่ชอบความสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปที่สำนักงานก็ยื่นผ่านช่องทางออนไลน์ง่ายๆ ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 8 เมษายน 2568 ยังมีเวลาจัดเตรียมเอสารอีกหลายเดือนเลยทีเดียว ซึ่งเอกสารที่ต้องเตรียม มีดังนี้
- เอกสารแสดงรายได้ เช่น หนังสือรับรองเงินเดือน (50 ทวิ) จากบริษัท ซึ่งระบุว่ามีรายได้รวมเท่าไร มีการหักภาษีล่วงหน้าเท่าไรบ้าง
- รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมไว้ตลอดทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบิดา–มารดา หรือบุตร
- เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษีเพื่อนำมาใช้ในการกรอกแบบฟอร์มยื่นภาษี เช่น จำนวนเงินที่ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี, เบี้ยประกันชีวิต, เบี้ยประกันสุขภาพ หรือใบกำกับภาษีเต็มรูปของมาตรการ Easy E–Receipt เป็นต้น
<เช็ก 31 รายการลดหย่อนภาษีปี 2567 ก่อนยื่นแบบภาษี>
ในการยื่นแบบภาษียังมีรายการลดหย่อนภาษีได้ 31 รายการ เพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้รับเงินคืนมากยิ่งขึ้นด้วย โดยก่อนยื่นแบบภาษี BTimes แนะนำว่าให้กลับไปรีเช็กรายการที่มามารถนำมาใช้ลดหย่อนได้ ซึ่งรายการที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ มีรายละเอียด ดังนี้
สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ ประเภทส่วนตัวและครอบครัว
– ส่วนตัว 60,000 บาท
– คู่สมรส (ไม่มีรายได้) 60,000 บาท
– บุตร คนละ 30,000 บาท
– บุตรคนที่ 2+ เกิดตั้งแต่ปี 2561 คนละ 60,000 บาท
– ค่าคลอดบุตร ไม่เกินท้องละ 60,000 บาท
– ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ คนละ 30,000 บาท
– ค่าเลี้ยงดูผู้พิการ/ทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท
สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ ประเภทประกันชีวิตและการลงทุน
– ประกันชีวิตทั่วไป/สะสมทรัพย์ ไม่เกิน 100,000 บาท
– ประกันสุขภาพตัวเอง ไม่เกิน 25,000 บาท
โดยรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท
– ประกันสุขภาพพ่อแม่ ไม่เกิน 15,000 บาท
– ประกันชีวิตคู่สมรส (ไม่มีรายได้) ไม่เกิน 10,000 บาท
– ประกันสังคม ไม่เกิน 9,000 บาท
– เงินลงทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ไม่เกิน 100,000 บาท
– กองทุน Thai ESG 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 300,000 บาท
– กองทุน SSF 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท
– กองทุน RMF 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
– ประกันบำนาญ 15% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท
– กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ไม่เกิน 30,000 บาท
– กองทุน PVD 15% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 500,000 บาท
– กองทุนสงเคราะห์ครูฯ ไม่เกิน 500,000 บาท
– กบข. ไม่เกิน 500,000 บาท
โดยจะต้องรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ ประเภทกระตุ้นเศรษฐกิจ
– ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 100,000 บาท
– Easy E–Receipt 67 ไม่เกิน 50,000 บาท
– เที่ยวเมืองรอง 2567 ไม่เกิน 15,000 บาท
– สร้างบ้านใหม่ 2567–2568 ไม่เกิน 100,000 บาท (10,000 บาท ต่อค่าก่อสร้างทุก 1 ล้านบาท)
สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ ประเภทช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
– ค่าซ่อมบ้าน ไม่เกิน 100,000 บาท
– ค่าซ่อมรถ ไม่เกิน 30,000 บาท
(ที่จ่ายไประหว่าง 16 สิงหาคม ถึง 31 ธันวาคม 2567) *เฉพาะเขตพื้นที่ที่กำหนด
สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ ประเภทเงินบริจาค
– กลุ่มการศึกษา/กีฬา/มูลนิธิด้านการแพทย์และการสาธารณสุข 2 เท่าของเงินบริจาค (ตาม พ.ร.ฎ. 771 พ.ศ. 2566) ไม่เกิน 10% ของเงินได้ หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน (สำหรับการบริจาคผ่านระบบ e–Donation เท่านั้น)
– บริจาคสถานพยาบาลของรัฐ 2 เท่าของเงินบริจาค ไม่เกิน 10% ของเงินได้ หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
– บริจาคทั่วไปตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 10% ของเงินได้ หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
– พรรคการเมือง ไม่เกิน 10,000 บาท
โดยบรรดา 31 รายการที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างถูกต้อง จะช่วยให้ผู้เสียภาษี ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่
<ขั้นตอนยื่นภาษีออนไลน์>
1. เข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร คลิก 👉 https://efiling.rd.go.th/ หรือ https://efiling.rd.go.th/rd–cms/ ทำตามขั้นตอน โดยกด “ยื่นแบบออนไลน์” (สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ตั้งแต่วันนี้–9 เม.ย. 2567) จากนั้น “เข้าสู่ระบบ” ด้วยเลขบัตรประชาชน (หากใช้บริการเป็นครั้งแรกกด “สมัครสมาชิก” แล้วทำตามขั้นตอน) จากนั้น ยืนยันตัวตนด้วยรหัส OTP ผ่านเบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้ กดยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91
**ข้อควรรู้ : ภ.ง.ด.90 คือ คนที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ เช่น ขายของออนไลน์แบบบุคคลธรรมดา หรือเงินปันผล/ภ.ง.ด.91 คือ คนที่มีรายได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีรายได้เสริมจากช่องทางอื่น
2. ดึงข้อมูลค่าลดหย่อนอัตโนมัติ
กรอกข้อมูลรหัสหลังบัตรประชาชน แล้วกด “ตรวจสอบข้อมูล”
ระบบจะแสดงข้อมูลค่าลดหย่อนต่างๆ ให้อัตโนมัติ จากนั้นกด “ตรวจสอบข้อมูลสำหรับยื่นแบบ”
เลือกข้อมูลที่จะใช้ในการยื่นภาษี จากนั้นกด “เริ่มยื่นแบบ”
3. ตรวจสอบข้อมูลส่วนตัว และใส่สถานะ
ระบบจะแสดงข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ ทั้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร, ชื่อ–นามสกุล, วันเดือนปีเกิด, สถานที่ติดต่อ, ร้านค้า/กิจการส่วนตัว (ถ้ามี) ให้ตรวจสอบความถูกต้อง จากนั้นให้ระบุ “สถานะ” โสด/สมรส/ม่าย
4. ระบุข้อมูลตามแหล่งที่มาของรายได้
ระบบจะแสดงหน้ารายได้ต่างๆ โดยแยกตามแหล่งที่มาของรายได้ เช่น รายได้จากเงินเดือน, รายได้จากฟรีแลนซ์, รายได้จากทรัพย์สิน, รายได้จากการลงทุน และรายได้จากมรดกหากเป็นพนักงานประจำที่มีรายได้ช่องทางเดียวจากเงินเดือน ให้เลือก “ระบุข้อมูลช่อง 40(1)”
5. กรอกรายได้ทั้งปีตามใบ 50 ทวิ
ในหน้านี้ให้กรอกรายได้ทั้งปีตามใบ 50 ทวิ ที่ทางบริษัทให้มา ดังนี้
– เงินได้ทั้งหมดในปีที่ผ่านมา
– ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้ดูว่าบริษัทมีการหักภาษีล่วงหน้าไปหรือไม่ หากไม่มีให้ระบุ 0 หรือถ้ามีก็ให้ระบุตามใบ 50 ทวิ
– เลขผู้จ่ายเงินได้ของบริษัทที่ทำงานอยู่
6. ตรวจสอบค่าลดหย่อนทั้งหมด
ในระบบจะแสดงข้อมูลค่าลดหย่อนให้อัตโนมัติ สามารถใส่เพิ่ม หรือปรับแก้ไขได้
7. ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด
จากข้อมูลรายได้ทั้งปี และค่าลดหย่อนต่างๆ ระบบจะทำการคำนวณเงินที่ต้องเสียภาษี หรือได้คืนภาษีมาให้อัตโนมัติ โดยให้ตรวจสอบความถูกต้อง แล้วเลือกว่าจะขอคืนภาษีและอุดหนุนพรรคการเมืองหรือไม่
8. กดยืนยันการยื่นแบบ
ให้ทำการตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง หากเรียบร้อย ถูกต้องแล้ว ให้ “กดยืนยันการยื่นแบบ” ก็เป็นการเสร็จสิ้นการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
**เทคนิคควรรู้: อัปโหลดเอกสารค่าลดหย่อนต่างๆ เพิ่มเติม และผูกหมายเลขบัญชีพร้อมเพย์ที่เป็นเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อความรวดเร็วในการขอคืนภาษี
โดยสรรพากรยังเปิดให้ผู้ที่มีภาษีต้องชำระตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป สามารถขอผ่อนชำระภาษีได้ 3 งวด
นอกจากนี้ ยังสามารถยื่นภาษีแบบใหม่ ผ่านระบบ D–MyTax โดยสามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ ตามลิงก์นี้ ––>> https://shorturl.asia/PW34K
หากอ่านข้อมูลทั้งหมด ที่ BTimes นำมาฝากแล้วยังมีข้อสงสัยอื่นๆ เพิ่มเติม ก็สามารถสอบถามไปยังศูนย์บริการข้อมูลสรรพากร (RD Call Center) โทร. 02–272–8000 หรือศึกษาเพิ่มได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร ที่ลิงก์นี้ ––>> https://shorturl.asia/V4zmu