คนไทยเข้าสู่ยุคทอง (แพงกระฉูด) ของแท้ ขยันทำนิวไฮไม่พัก แถมสวิงแต่ยังแพง ใครซื้อทองหมั้น-แต่งกุมขมับ ลุ้นให้ราคาลงจะเป็นไปได้แค่ไหน?

1093
0
Share:

คนไทยเข้าสู่ยุค ทองคำ (แพงกระฉูด) ของแท้ ขยันทำนิวไฮไม่พัก แถมสวิงแต่ยังแพง ใครซื้อทองหมั้น-แต่งกุมขมับ ลุ้นให้ราคาลงจะเป็นไปได้แค่ไหน?

เป็นที่รู้ๆ กันอยู่แล้วว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ที่นิยมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะยุคไหนๆ ทองคำยังเป็นของมีค่าซื้อขายได้คล่องตัว และมาจนถึงตอนนี้ราคาทองคำยังคงร้อนแรง พุ่งทะยานไม่พัก ช่วงที่ผ่านมาขยันทำนิวไฮ สลับผันผวนมาอย่างต่อเนื่อง บางวันพุ่งพรวดจนทำเอาตกอกตกใจ แถมบางวันยังปรับราคาขึ้นลงจนเวียนหัว เรียกได้ว่าเราเข้าสู่ยุคทองของแทร่แล้วแน่ๆ เพราะยังไม่เคยเห็นราคาทองที่แพงขนาดนี้มาก่อน ล่าสุดสัปดาห์นี้ ราคาพุ่งขึ้นไปใกล้ๆ 42,000 บาทแล้ว

โดยปัจจัยหลักๆ ที่มีผลกับราคาทองคำให้ขึ้นหรือลง มีด้วยกัน 4 ปัจจัย คือ
1. นโยบายการเงินของรัฐและอัตราดอกเบี้ย หากดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจดี ราคาทองคำจะปรับตัวลง
2. ราคาน้ำมันและเงินเฟ้อ น้ำมันเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงในตลาดโลก …
3. ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ
4. ความต้องการ ตามอุปสงค์ อุปทาน

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวว่าปัจจุบัน 4 ปัจจัยทำราคาทองพุ่งสูงปัจจุบันเปลี่ยนไปนิดหน่อย คือภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ ความไม่พอใจต่อสกุลดอลลาร์ และที่สำคัญอีกอย่างในตอนนี้คือเศรษฐกิจจีนกำลังแย่ การซื้อทองก็เหมือนเป็นการป้องกันความไม่แน่นอนหรือป้องกันความเสี่ยงในฐานที่ทองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านั้นความขัดแย้งในตะวันออกกลางกลับมาครุกรุ่นอีกครั้ง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้ราคาทองพุ่งขึ้น

ขณะที่ประเด็นเรื่องของเศรษฐกิจ ในอดีตเวลาดอกเบี้ยขึ้น ราคาทองจะลง เพราะว่าทองไม่มีผลตอบแทน คนก็เลยหันไปเล่นดอกเบี้ย แต่ช่วง 3-4 ปีให้หลัง เกิดปรากฏการณ์ที่มันเปลี่ยนแปลงไป ปรากฏว่าแม้ดอกเบี้ยจะขึ้นหรือลง แต่ราคาทองขึ้นตลอดเลย อย่างตอนนี้เริ่มมีข่าวว่าดอกเบี้ยจะลง ประกอบกับความไม่แน่นอนของภูมิรัฐศาสตร์ คนก็หันมาเล่นทองมากขึ้น ทำให้ราคาทองพุ่งสูงขึ้น อีกอย่างคือเศรษฐกิจของจีนกำลังแย่ สะท้อนจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ข่าวคราวของสถาบันการเงินของจีนทยอยล้ม พอจีนแย่ก็ทำราคาหุ้นในประเทศตกไป 30% จีนเลยต้องหาผลตอบแทนเพิ่ม ส่วนหนึ่งก็คือมาซื้อทอง เรียกว่าจีนตุนทองก็ว่าได้ เพราะผู้ซื้อมีทั้งธนาคารกลาง และประชาชนคนจีน

นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ เริ่มไม่ไว้ใจเงินดอลลาร์ ทำให้มีการแห่ขายเงินดอลลาร์ ธนาคารกลางหลายประเทศหันไปซื้อทองแทน เพราะต้องการลดความเสี่ยงที่เกิดจากภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจด้วย

เช่นเดียวกับคุณจิตติ ตั้งสิทธิภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่าราคาทองคำที่พุ่งขึ้นร้อนแรงต่อเนื่องในปีนี้ มีปัจจัยสำคัญมาจากการที่ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกเข้าซื้อทองคำ หันมาใช้ทองคำเป็นทุนสำรองกันมากขึ้น

ด้านคุณพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) มองราคาทองคำในประเทศยังมีปัจจัยสนับสนุนหลักที่ยังคงแข็งแกร่ง ทั้งอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มเข้าสู่ขาลงในปีนี้ โดยจะลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% และลดลงต่อเนื่องในปีหน้าและปีถัดไป ทำให้นักลงทุนมองว่าทองคำจะได้รับปัจจัยบวกจากดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลง และจะกระทบให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลดลง และความต้องการทองคำจากธนาคารกลางประเทศต่างๆ ที่มีอย่างต่อเนื่อง จากกระแส De-Dollarization ธนาคารกลางทั่วโลกเดินหน้าถือครองทองคำเพิ่มอีก 39 ตันในเดือนมกราคม นำโดยตุรกีและจีนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อสุทธิทองคำเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจาก ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สนับสนุนความการทองคำด้วยเช่นกัน

สำหรับคนที่ต้องการเข้าซื้อและมองว่าราคาทองคำจะหลุด 40,000 บาทต่อบาททองคำหรือไม่นั้น มองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้หากสถานการณ์เกิดการเปลี่ยนแปลง หากความแข็งแกร่งของปัจจัยสนับสนุนลดลงก็อาจทำให้ราคาทองคำเริ่มพักฐาน แต่ประเมินว่าราคาทองคำจะยังไม่หลุด 2,270 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ หรือ 39,000 บาทต่อบาททองคำ อย่างไรก็ดีวายแอลจีมองว่าโอกาสที่จะได้เห็นราคาหลุด 40,000 บาทต่อบาททองคำ ในอนาคตอันใกล้นั้นก็ยังคงมีน้อยกว่า เนื่องจากเทรนด์ทองคำยังเป็นขาขึ้น

ส่วนทองคำในตลาดโลกปรับขึ้นมาสูงกว่าเป้าหมายที่วายแอลจีให้ไว้คือ 2,350 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ซึ่งวายแอลจีได้แนะนำนักลงทุนว่าหากราคาทองคำได้ปรับขึ้นมาถึงระดับ 2,350 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์แล้ว นักลงทุนต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุนเพราะระดับนี้อาจจะมีแรงเทขายทำกำไรระยะสั้นออกมา

ขณะที่ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส ระบุข้อมูลว่าความต้องการทองคำจากธนาคารกลางที่คาดยังแข็งแกร่งในปีนี้ จากกระแส Dedollarization หรือการลดการพึ่งพิงเงินดอลลาร์ มีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และหันมาถือทองคำในเงินทุนสำรองมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีแรงซื้อทองคำจากธนาคารกลางทั่วโลกอย่างแข็งแกร่ง โดยซื้อทองคำเกิน 1,000 ตันติดต่อกันมา 2 ปี สูงที่สุดในรอบ 55 ปี และทำให้สัดส่วนความต้องการทองคำจากธนาคารกลางจากเดิมเพียง 8% ในปี 2564 เป็น 23% ในปี 2565–2566 ดังนั้น ถือว่าธนาคารกลางมีบทบาทต่อความต้องการทองคำและราคาทองคำอย่างมาก

ในปีนี้ก็คาดว่าความต้องการของทองคำจากธนาคารกลางยังคงแข็งแกร่งอยู่ โดยเฉพาะจากธนาคารกลางจีนที่มีเงินทุนสำรองมากที่สุดอันดับ 1 ของโลก ถึงแม้ว่าธนาคารกลางจีนได้มีการซื้อทองคำสะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันมีสัดส่วนการถือทองคำในเงินทุนสำรองเพียง 4% เท่านั้น ซึ่งในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำแล้ว 64 ตัน ถึงแม้ว่าลดลง 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่เป็น 4 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2565

โดยธนาคารกลางจีนยังเป็นธนาคารกลางที่เข้าซื้อทองมากที่สุดอันดับ 1 โดยเข้าซื้อทองในเดือนกุมภาพันธ์ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 16 และเข้าซื้อทองรวม 22 ตันในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้

อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำในบ้านเราทยอยพุ่งขึ้นมาต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยในเดือนมกราคม 2567 ทองคำปรับขึ้นเฉลี่ย +550 บาท กุมภาพันธ์ +400 บาท ,มีนาคม +3,950 บาท และล่าสุดเดือน เมษายน จนถึง ณ วันที่ 12 เมษายน ราคาเฉลี่ย +2,800 บาท แล้ว ทำราคาสูงสุดระหว่างวันถึง 41,900 บาท ปรับราคาไป 25 ครั้ง โดยปิดตลาด ปรัลขึ้น +900 บาท ทองคำแท่งรับซื้อ ที่ 41,250 บาท ขายออก 41,350 บาท ส่วนทองรูปพรรณซื้อ ที่ 40,507.52 บาท ขายออก 41,850 บาท อ้างอิงทองคำสปอร์ตที่ 2,397 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ค่าเงินบาท 36.45 บาทต่อดอลลาร์

หลายคนอาจจะยังตั้งตารอทองคำราคาแตะ 50,000 กันอยู่ แต่ถ้าเป็นใครที่กำลังจะมีงานมงคลไม่ว่าจะซื้อทองหมั้น ซื้อทองแต่งในเร็วๆ นี้ คงต้องมีเครียดกันบ้าง หากไม่ได้ซื้อเก็บสะสม เพราะถ้าจะรอให้ทองลงในช่วงนี้อาจจะยังยากอยู่…

BTimes