ที่สุดแล้วมาตรการล็อกดาวน์เพื่อคุมโรคโควิด-19 ในประเทศไทยให้อยู่หมัด จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน

1064
0
Share:

ที่สุดแล้วมาตรการ ล็อกดาวน์ เพื่อคุมโรคโควิด-19 ในประเทศไทยให้อยู่หมัด จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน

หลังจากยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 พุ่งทะยานอย่างต่อเนื่องจากหลักพัน ข้ามมาเป็นหลักหมื่น และล่าสุดทุบนิวไฮอีกครั้งด้วยการติดเชื้อรายวันทะลุแล้วกว่า 2 หมื่นราย จนสร้างความน่ากังวลเป็นอย่างมาก เพราะถึงแม้ว่ายอดผู้รักษาหายจะสูงตามเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับยอดผู้ติดเชื้อที่สูงจนแทบมองไม่เห็นจุดที่จะกดต่ำได้เลย ส่งผลให้ที่ประชุม ศบค. มีมติให้ขยายระยะเวลาล็อกดาวน์ต่อไปอีก 14 วัน นับจากวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ซึ่งถือเป็นการต่ออายุการล็อกดาวน์ครั้งที่ 2 โดยครั้งนี้ได้ทำการเพิ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดอีก 16 จังหวัด จากเดิม 13 จังหวัด รวมเป็น 29 จังหวัดสีแดงเข้ม พร้อมเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการต่างๆ เพื่อหวังที่จะควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่หมัด และสามารถกดให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

จากที่มีการยืดระยะเวลาล็อคดาวน์ออกไปก็ได้เกิดหลากหลายคำถามตามมาว่า ผลที่ได้จากการล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้มเป็นระยะเวลา 1 เดือนที่มาผ่านมานี้คืออะไร เพราะนอกจากยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตรายวันจะสูงขึ้นแล้ว ก็ยังไม่เห็นประโยชน์ของคำสั่งนี้เท่าไรนัก ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ลูกจ้างหรือประชาชนคนธรรมดาทั่วไปก็ได้รับผลกระทบหนักหนาไม่ต่างกัน ทั้งหมดต่างต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย และหนี้สินที่กองท่วมหัวต่อไปอย่างไม่รู้อนาคต แม้แต่กำลังหรือต้นทุนที่แบกอยู่ก็ลดน้อยลงทุกที สิ่งที่พอจะมาเป็นพลังในการขับเคลื่อนก็ร่อยหรอจนแทบไม่มีเหลือ หากวันใดที่แรงนี้หมดลงก็คงถึงเวลาที่ต้องล้มหายตายจากเป็นวัฏจักรเช่นนี้ต่อไป คำถามคือเราอยากเห็นแบบนั้นหรือ? ทำไมสถานการณ์ต่างๆ ถึงก็ดูแย่ลงไปได้มากขนาดนี้

ล่าสุด สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้เผยถึงสถานการณ์ค้าปลีกที่อยู่ในขั้นวิกฤตหนัก ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ค้าปลีกในเดือนกรกฎาคม 2564 ติดลบถึง 70% ดำดิ่งที่สุดในรอบ 16 เดือน หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 2.7 แสนล้านบาท ส่งผลให้ร้านค้ากว่า 100,000 แห่งเตรียมปิดกิจการ และกระทบต่อในเรื่องของการจ้างงานแรงานอีกกว่าล้านราย นอกจากนี้มาตรการ ล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวในเดือนสิงหาคมที่ได้ขยายพื้นที่คุมเข้มสูงสุดเป็น 29 จังหวัด ยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการค้าปลีกให้ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวสู่สภาวะปกติล่าช้าขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้อีก 1 ปี ซึ่งคาดว่าน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงกลางปี 2566

เมื่อมองจากสถานการณ์ภาพรวมในปัจจุบันที่ดูเหมือนจะเลวร้ายและรุนแรงมากขึ้น หากลองย้อนกลับไปดูถึงแผนการรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รัฐบาลเคยตั้งเป้าหมายไว้มากมาย อาทิ การเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสภายในปีนี้ แต่ ณ ขณะนี้กับระยะเวลาที่เหลือเพียงแค่ประมาณ 4 เดือนเศษ เพิ่งจะมีประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนเพียง 11 ล้านโดสเท่านั้นซึ่งห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ หากมีการวางแผนการจัดการกระจายวัคซีนที่ดี หรือแม้แต่การลดขั้นตอนบางอย่างที่ไม่จำเป็นออกไป ก็เชื่อว่าจะสามารถทำการฉีดให้กับประชาชนตามเป้าหมายได้ไวทันต่อเวลา

นอกจากแผนการกระจายวัคซีน รัฐบาลยังมีแผนการเปิดประเทศใน 120 วัน และตอนนี้ก็ผ่านมาแล้วเกือบ 1 ใน 4 ของเป้าหมาย แต่ก็ดูจะไม่เห็นผลเท่าไร เพราะยังไม่สามารถควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ความหวังในการเปิดประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว จึงดูเป็นเรื่องที่ยากลำบากเหลือเกิน เพราะถ้ายังยืนกรานที่จะเปิดประเทศ แต่ไม่มีการนำวัคซีนที่ดีมาเร่งฉีดสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน ก็อาจทำให้การแพร่ระบาดอยู่ในจุดที่ยากเกินควบคุม และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็จะยิ่งยากลำบากมากกว่าเดิม มิหนำซ้ำตอนนี้โครงการภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ก็ดูเหมือนจะเกิดปัญหา ทั้งพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น หรือล่าสุดพบศพนักท่องเที่ยวชาวสวิสถูกฆาตกรรม ซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย หากไม่รีบแก้ไขปัญหาดังกล่าว ก็กลัวว่าปราสาททรายแห่งนี้จะทนต่อแรงกัดเซาะของคลื่นไม่ไหว จนต้องพังทลายหายไปกับคลื่นเป็นแน่แท้

ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานเกี่ยวกับโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่ทางรัฐบาลตั้งเป้า เพื่อเปิดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พบว่าสามารถดึงชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวได้เพียง 1% ของจำนวนช่วงก่อนเกิดโควิด-19 หรือราว 450 คนต่อวันโดยเฉลี่ย ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2019 ที่มีนักท่องเที่ยวมากถึง 10 ล้านคน แต่ถึงอย่างไรในเรื่องที่แย่ก็ยังมีเรื่องที่ดีอยู่บ้าง โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รวบรวมสถิติของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเพื่อเข้าร่วมโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ในระยะเวลา 1 เดือนแรก พบว่ามีทั้งหมด 14,055 คน สร้างรายได้ให้กับจังหวัดภูเก็ตเป็นจำนวน 829 ล้านบาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 58,982 บาทต่อทริป แบ่งเป็นค่าที่พักมากที่สุด 282 ล้านบาท ค่าซื้อสินค้าและบริการ 194 ล้านบาท ค่าอาหารและเครื่องดื่ม 175 ล้านบาท บริการทางการแพทย์และสุขภาพ 124 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก 54 ล้านบาท

แม้สถานการณ์รอบตัวจะตึงเครียดมากแค่ไหน แต่เชื่อว่าทุกคนอยากให้โรคอุบัติร้ายนี้หายไปอย่างเร็ววัน เพื่อที่เราจะได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติก่อนที่อายุเราจะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สามารถทำอะไรที่ต้องการหรืออยากทำได้อย่างเต็มที่ ส่วนใครมีความฝันก็อย่าเพิ่งละทิ้ง และเปลี่ยนความกดดันนี้เป็นเชื้อเพลิงในการผลักดัน เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมจะได้มีแรงขับเคลื่อนความฝันได้อย่างเต็มที่ ทีมงาน BTimes จะคอยเป็นกำลังใจให้กันและกัน เพื่อรอวันที่เราจะสามารถยิ้มได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีหน้ากากอนามัยมากั้น สู้ๆ นะคะ เราจะต้องผ่านวิกฤตนี้ไปได้แน่นอนค่ะ

BTimes