เมื่อ กยศ.ไปไม่ถึง“ล้างหนี้” จอดป้าย “ยกดอกเบี้ย” เจ็บแต่ไม่จบหรือเปล่า?

692
0
Share:

เมื่อ กยศ. ไปไม่ถึง“ล้างหนี้” จอดป้าย “ยกดอกเบี้ย” เจ็บแต่ไม่จบหรือเปล่า? - ล้างหนี้ กยศ.

เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จักและคุ้นเคยกันดีกับ “เงินกู้ กยศ.” ยิ่งใครที่เคยกู้เงินกับกองทุนแล้ว ก็น่าจะพอนึกภาพออก หากครอบครัวที่ฐานะทางบ้านไม่ดีนัก หรือบางบ้านเข้าขั้นขัดสนมีความจำเป็นต้องกู้เงินเรียนจริงๆ จะรู้ว่าเงินกู้ที่ได้ในแต่ละเดือนนั้นช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวได้มาก เพราะนอกจากค่าเทอมแล้ว ค่าใช้จ่าย ค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเดินทาง รวมๆ เป็นค่าครองชีพของนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยนั้นก็หนักหนาอยู่พอตัว ยิ่งในยุคที่ข้าวของแพง ข้าวแกงครึ่งร้อยแบบนี้ ทางเลือกหรือตัวช่วยก็เห็นจะเป็นกองทุน กยศ. นี่แหละ ที่พอจะพึ่งพาได้

จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2538 กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ใช้เงินงบประมาณสำหรับให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา 3,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินทุนหมุนเวียนในอนาคต ซึ่งขณะนี้ดำเนินการมาแล้วกว่า 20 ปี มีเงินหมุนเวียนแล้ว 4 แสนล้านบาท กยศ. ปล่อยกู้ไปกว่า 6.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 6.2 ล้านคน โดยมีผู้ปิดบัญชีการชำระหนี้แล้ว 1.6 ล้านคน เสียชีวิต 6.7 หมื่นคน กำลังศึกษาอยู่ 1 ล้านคน และอยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.5 ล้านคน

แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่าในจำนวนนี้มันมีคนกลุ่มหนึ่งที่ “เบี้ยวหนี้” ไปกว่า 2.5 ล้านคนเลย คิดเป็นเงินต้นรวมๆ แล้วก็กว่า 9 หมื่นล้านบาท โดยปี 2561 เป็นปีสุดท้ายที่ขอใช้งบจากรัฐบาล จากนั้นกองทุนได้ดำเนินการโดยใช้เงินหมุนเวียน ซึ่งการปล่อยสินเชื่อทางการศึกษา ในปัจจุบันกองทุนปล่อยกู้เฉลี่ยปีละ 4 หมื่นล้านบาท และไม่จำกัดจำนวนบุคคลในการปล่อยกู้อีกด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ หรือเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กระแสแคมเปญ #ล้างหนี้กยศ ได้ผุดขึ้นมาจากการล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อแก้ไขกฎหมาย กยศ. ยกหนี้คงค้างคนที่เรียนจบครบ 2 ปี แล้วให้เรียกเก็บเงินจากรัฐบาลแทน ได้กลายเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก แถมติดเทรนด์ทวิตเตอร์วิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง ซึ่งชาวเน็ตส่วนใหญ่ต่างไม่เห็นด้วย โดยมองว่า ใครเป็นหนี้ก็ต้องใช้

ต่อจากนั้น นายนพดล เภรีฤกษ์ โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ออกมาชี้แจงว่า การยกหนี้ กยศ. ไม่ใช่การแก้ปัญหาหนี้ แต่จะทำให้ผู้กู้ขาดวินัยทางการเงิน ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต แต่รัฐบาลเข้าใจในปัญหาของหนี้ กยศ. ตามกฎหมายปัจจุบัน จึงเสนอแก้ไขให้การชำระหนี้ กยศ. ยังคงเป็นไปตามหลักเป็นหนี้ต้องใช้หนี้ แต่ผ่อนปรนการชำระหนี้ กยศ. ให้สอดคล้องกับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ ซึ่งในขณะนั้นก็มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้หนี้ กยศ .จริงๆ และกำลังอยู่ในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบแก้กฎหมาย กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ตามที่มีการเสนอ โดยไม่เก็บดอกเบี้ย และไม่คิดเบี้ยปรับให้กับลูกหนี้ เรียกง่ายๆ คือ ยกดอก ยกเบี้ยปรับกันไป เพราะถ้าจะให้ล้างหนี้เห็นทีคงจะไม่ได้

แต่สิ่งที่ตามมาก็คือเงินกองทุน กยศ. ในอนาคต จากเดิมที่เคยมีรายรับในด้านดอกเบี้ยและเบี้ยปรับจะหายไป เพราะหากย้อนกลับไปดูการบริหารเงินกองทุนของ กยศ. ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินแล้ว แต่กองทุนใช้วงเงินเดิมที่รัฐบาลให้ และเงินจากที่เยาวชนรุ่นก่อนเรียนจบแล้ว มีการใช้หนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งรายได้บางส่วนมาจากเบี้ยปรับที่ลูกหนี้ชำระล่าช้า ทำให้มีเงินหมุนตลอดเวลา โดยจะต้องใช้เงินก้อนเดิมที่เป็นเงินต้นมาใช้หมุนเวียน ดังนั้นเงื่อนไขสำคัญก็คือเงินก้อนนี้ต้องกลับมา นั่นหมายความว่าลูกหนี้ต้องคืนเงินต้นให้ครบตามกำหนด ไม่เช่นนั้นจะเป็นภาระกองทุนแน่นอน

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. เปิดเผยว่าในแต่ละปีกองทุนจะมีสภาพคล่องที่ได้รับจากการชำระหนี้เงินกู้ ประมาณ 40,000 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวเป็นอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับประมาณ 6,000 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุนประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อไม่มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ รายรับส่วนนี้จะหายไปทันที

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงจะก่นด่าในใจหรือไม่ก็คงจะขมวดคิ้ว เครื่องหมายคำถามผุดขึ้นบนหัวปุดๆ ถ้ามันมีกลุ่มก้อนคนหนีหนี้ รวมถึงไม่จ่ายเงินต้นด้วยแล้วล่ะก็ กองทุนจะเอาเงินจากไหนมาหมุน และในอนาคตจะเอาเงินจากไหนให้น้องๆ นักเรียนนักศึกษารุ่นต่อไปกู้ ??

ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ฐานะประธานคณะกรรมการ กยศ. ก็มีความเป็นห่วงว่าหากกฎหมายนี้คลอดจะทำให้ผู้กู้ไม่มีวินัยในการชำระหนี้

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า แม้สภาฯ จะผ่านร่างกฎหมายแล้ว แต่ก็ยังมีขั้นตอนของวุฒิสภาฯ ที่กระทรวงการคลังจะต้องไปชี้แจงตามขั้นตอนทางกฎหมาย ส่วนจะสามารถปรับเปลี่ยนร่างกฎหมายได้หรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของวุฒิสภาฯ

ต่อจากนี้คือ กยศ. จะเตรียมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อไปชี้แจ้งต่อวุฒิสภา ทั้งเหตุจำเป็นที่จะต้องมีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ และข้อเท็จจริงของผลกระทบต่างๆ ซึ่งตามกระบวนการกฎหมายจะใช้เวลาพิจารณา 1 เดือน เพราะเป็นกฎหมายด้านการเงิน หากผ่านวุฒิสภาเห็นชอบ ก็รอกระบวนการออกกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งมีเวลาอีกระยะหนึ่ง และถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบ ก็จะต้องมีการตีกฎหมายกลับมา และมีการตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภาต่อไป

เอาเป็นว่าต่อจากนี้คงต้องรอฟังผลจากวุฒิสภาว่าจะให้ผ่านหรือไม่ผ่านกฎหมายนี้ แต่ที่แน่ๆ บรรดาน้องๆ นักเรียนนักศึกษาที่เตรียมจะสอบเข้าเรียน ค่าเทอมไม่พอ ก็คงหวั่นๆ ว่า “เงินกู้ก้อนนี้จะไม่มีอีกต่อไปแล้วหรือเปล่า?….”

BTimes