มหากาพย์ศึกสงครามราคารถอีวีในไทย ตลาดใหม่ของบรรดาค่ายรถน้อยใหญ่กระโจนลงสนามวิ่งสู้ฟัด แข่งหั่นราคาชนะใจผู้ซื้อคนไทยคึกคัก

1352
0
Share:

มหากาพย์ศึกสงครามราคา รถอีวี ในไทย ตลาดใหม่ของบรรดาค่ายรถน้อยใหญ่กระโจนลงสนามวิ่งสู้ฟัด แข่งหั่นราคาชนะใจผู้ซื้อคนไทยคึกคัก

ช่วงที่ผ่านมานี้ดูเหมือนตลาดรถยนต์ในบ้านเรา เริ่มถูกค่ายรถอีวีรันวงการ นอกจากนวัตกรรมประหยัดพลังงานแล้ว คาแรคเตอร์รถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ทำให้ผู้บริโภคในไทยหันมาสนใจรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นจนยอดขายพุ่งแบบก้าวกระโดด

ล่าสุดในเดือน ก.พ. 66 รถยนต์นั่งไฟฟ้า (BEV) มีตัวเลขจดทะเบียนถึง 5,402 คัน สูงสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกจำนวนจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นจาก ก.พ. ปี 65 ถึง 5,061.16% และมีสัดส่วนถึง 7.85% ของยอดรวมรถยนต์นั่ง ถ้ารวมรถยนต์ไฟฟ้าผสมแบบเสียบปลั๊กตามประเทศอื่นๆ จะมีสัดส่วน 9.67% ของยอดจดทะเบียนรวมทั้งหมด

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดขายรถอีวีพุ่งขึ้นมาจากนโยบายส่งเสริมกระตุ้นการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล ทำให้บรรดาค่ายรถพากันจัดโปร หั่นราคาขายลงมาอยู่ในระดับที่ประชาชนเข้าถึงได้ และสร้างความเชื่อมั่น จูงใจให้รถยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ เข้ามาตั้งฐานผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยมากขึ้นด้วย

แต่ถึงอย่างนั้น สถานการณ์การแข่งขันกันในเรื่องราคาที่ดูผิวเผินนั่นก็เป็นผลดีกับผู้ซื้อหรือผู้บริโภคอย่างเราๆ ไม่ใช่หรอ? คำตอบหลายคนอาจตอบว่า ‘ใช่’ มันเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นในตลาด

นิกเคอิ เอเชีย สื่อยักษ์ใหญ่ทรงอิทธิพลระดับโลกจากประเทศญี่ปุ่น ออกมาตีข่าวว่า ไทยเกิดภาวะ “วงจรอุบาทว์ตลาดรถยนต์” โดยในรายงานระบุว่า ตลาดยานยนต์ในประเทศไทยเผชิญกับวงจรอุบาทว์ หรือ Vicious Cycle ซึ่งหมายถึงภาวะตลาดรถยนต์ในไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ 3 ด้าน ได้แก่ ความต้องการซื้อรถยนต์อ่อนแอลงอย่างมาก ในขณะที่ปริมาณสต็อกรถยนต์จากการผลิตก่อนหน้านี้สะสมสูงมากขึ้น และบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ใช้นโยบายตัดลดราคาจำหน่ายรถยนต์อย่างรุนแรงในงานแสดงยานยนต์บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์ โชว์ 2024 ครั้งที่ 45 ซึ่งเปิดงานที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนที่เปิดให้เข้าชมเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 มีนาคมผ่านมา

อีกทั้งยังมีสัญญาณหลายอย่างของสภาพเศรษฐกิจไทยที่ซบเซาลงกำลังห้อมล้อมงานบางกอก มอเตอร์ โชว์ ครั้งที่ 45 ผู้ผลิตรถยนต์ ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ ล้วนมีความกังวลกับ 3 ปัจจัย ได้แก่ ภาวะหนี้ผู้บริโภคในไทย ความเข้มงวดสูงของสถาบันการเงินเกี่ยวกับบริการด้านการเงิน และปริมาณรถใหม่ค้างสต็อกสูง

ซึ่งมีข้อมูลที่สนับสนุนข้อมูลของสื่อญี่ปุ่น จากคุณชัชฤทธิ์ ตั้งเถกิงเกียรติ์ หัวหน้าผลิตภัณฑ์ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารทีทีบี ว่าในปีผ่านมา จำนวนรถยนต์ถูกยึดคืนมีจำนวนมากถึง 300,000 คัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในแต่ละปีมีจำนวนรถถูกยึดคืนที่ 180,000 คัน ซึ่งยังมีจำนวนรถยนต์อีก 100,000 คัน ที่เข้าสู่กระบวนการประมูลรถมือสอง ทำให้ราคาขายต่อร่วงตกต่ำมาก คนที่กำลังจะออกรถคันใหม่ โดยการนำรถยนต์ที่ใช้อยู่เดิมไปขายในตลาดมือสองซึ่งตีราคาถูกลงอย่างมาก จึงมีผลให้เกิดการชะลอการซื้อรถยนต์

นิกเคอิ เอเชีย รายงานด้วยว่าแบรนด์ยานยนต์จากจีนแผ่นดินใหญ่ใช้กลยุทธ์ลดราคาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากบีวายดี ที่เปิดตัวรถรุ่นใหม่ 5 รุ่นรวมถึงแอตโต้4 โฉมปี 2024 สำหรับประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ตั้งราคาขายที่คันละ 1,049,000 บาท ซึ่งถูกลงคันละ 150,000 บาทเมื่อเทียบกับรุ่นเดียวกันที่เปิดตัวในประเทศไทยครั้งแรกในปี 2022 ฉางอัน ออโตโมบิล เปิดตัวรุ่นลูมิน ซึ่งเป็นรถอีวีขยาดเล็กด้วยราคา 479,000 บาท และยังมีผู้ผลิตยานยนต์อีกจำนวนมากที่ลดราคาขายในงานนี้

ด้านค่ายรถญี่ปุ่นอย่างโตโยต้า โดยนายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย มองว่าเรื่องดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อลูกค้าที่ซื้อรถยนต์แบรนด์นั้นๆ ซึ่งอาจกระทบต่อยอดขายในภาพรวมบ้าง

ด้านค่ายรถจากเกาหลีใต้อย่าง ฮุนได คุณวัลลภ เฉลิมวงศาเวช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮุนได โมบิลิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาวะตลาดรถยนต์ในไทยที่แต่ละค่ายประกาศลดราคาขายทั้งรถไฟฟ้า และรถยนต์เครื่องสันดาปในปัจจุบัน เป็นผลจากปริมาณสต็อกรถมีเกินความต้องการของตลาดในไทย แต่ก็เชื่อว่าการแข่งลดราคาจะใกล้ถึงจุดต่ำสุดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เบื้องต้นน่าจะประมาณพฤษภาคม

ส่วนนายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่าสงครามราคาของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนในปัจจุบันเกิดขึ้นเร็วและแรงเกินไป ซึ่งจะส่งผลเสียต่อตลาดรถยนต์ในประเทศไทยในภาพรวม เนื่องจากผู้บริโภคจะมีความคาดหวังและเกิดความเคยชิน รวมทั้งยังเป็นการด้อยค่าผลิตภัณฑ์และด้อยค่าแบรนด์ การสร้างแบรนด์ในช่วงต้นควรสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคมากกว่า อาทิ การสร้างความเชื่อมั่นด้านบริการหลังการขาย (After Sale Service) ซึ่งจะส่งผลดีต่อแบรนด์มากกว่า

แน่นอนว่าในศึกหั่นราคา ก็มีค่ายรถญี่ปุ่นร่วมลงสนามด้วย โดยหั่นราคาขายคันละ 1.5–3 แสนบาท เพื่อสู้รถจีน ทั้งซูซูกิ ฮุนได มาสด้า แต่พี่จีนก็ยังทุบราคาให้ต่ำลงอีก ทั้งยังส่งโมเดลใหม่ที่มีออปชั่นที่เพิ่มขึ้นแต่ขายในราคาเดิม หรือบางโมเดลก็ถูกกว่า โดยเฉพาะปีนี้รถจีนลอตแรกเริ่มประกอบในประเทศ สามารถทำต้นทุนการผลิตได้ต่ำลงไปอีก สามารถใช้ส่วนต่างมาเป็นจุดขายได้หลากหลายขึ้น

อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ว่าแบรนด์รถอีวีจากจีนเริ่มตีตลาดไทยเร็ว มาก่อนได้ก่อน ยังใช้ได้อยู่ เพราะมีแบรนด์จีนหลายแบรนด์ที่เป็นที่นิยมและได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ซื้อในไทย คำว่าเจ้าตลาดจึงยังอยู่ในมือของค่ายจีนเน้นๆ ในงาน “มอเตอร์โชว์ 2024” ครั้งที่ 45 ก็มีการประกาศแบรนด์รถยนต์ที่จะเข้าร่วมงานเกือบ 50 แบรนด์ ที่สำคัญเป็นกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าเกือบ 10 แบรนด์ และมากกว่าครึ่งเป็นแบรนด์จากจีน

เอาเป็นว่าใครอยากจะได้สัมผัสกับสนามแข่งราคารถอีวีแล้วละก็ สามารถไปดูให้เห็นกับตาได้ในงาน “มอเตอร์โชว์ 2024” ครั้งที่ 45 ที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ปีนี้มีค่ายรถนำรถใหม่มาอวดโฉม แข่งจัดโปรฯ เพียบ ถึง 49 แบรนด์ และงานยังจัดไปจนถึง 7 เม.ย. 67 นี้

BTimes