เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับหลักสูตรการศึกษารูปแบบใหม่ที่เน้นความหลากหลายทางความคิด

1314
0
Share:

สาธิต มธ. เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับ หลักสูตร การศึกษา รูปแบบใหม่ที่เน้นความหลากหลายทางความคิด

กำลังเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์กับโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับข้อกังวลต่อการเรียนการสอนหลักสูตรใหม่ ซึ่งสิ่งที่กำลังโต้เถียงกันอยู่ ณ ขณะนี้ คือเรื่องที่โรงเรียนอนุญาตให้เด็กไม่ต้องใส่เครื่องแบบมาเรียน ไม่มีการบังคับเรื่องทรงผม หรือสีผม และได้เปิด 8 วิชาใหม่ที่ปลูกฝังให้อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ในอนาคต เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นร้อนแรงที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง จนล่าสุดนายกถึงขั้นกับสั่งให้จับตาหลักสูตรดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

8 วิชาใหม่ของสาธิต มธ. บางคนว่าหลักสูตรทันสมัยน่าเรียน แต่บางคนก็มองว่าเป็นการล้างสมอง ?

“การศึกษาต้องไม่เป็นทุกข์ของแผ่นดิน” หนึ่งในประโยคของบทสัมภาษณ์ของ รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหาร โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านบทความของแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ mappa โดยปรับหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ เหมือนการนิยามความหมายให้โรงเรียนใหม่ที่มุ่งสอนให้เด็กก้าวทันโลก ตลอดจนทำให้เด็กๆ รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้มาเรียน โดยหลักสูตรดังกล่าวมีการเพิ่มรายวิชาที่ต่างจากการเรียนแบบดั้งเดิม อาทิ วิชาอยู่รอดปลอดภัย วิชาว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด วิชาเสพศิลป์ วิชาวัยรุ่นศาสตร์ วิชารู้ทันการเงิน วิชาวิถีศรัทธา (ครอบคลุมทุกศาสนา) วิชาผู้ประกอบการ วิชารู้เท่าทันสื่อ และกลิ่นเสียง

สิ่งที่สร้างความฮือฮาต่อมาคือ การที่ทางโรงเรียนก็ได้ระบุกฎระเบียบไว้ว่า จะไม่มีการบังคับใส่เครื่องแบบนักเรียน ไม่บังคับเรื่องทรงผม/สีผม ไม่จำเป็นต้องทำความเคารพครูทุกคน ทุกเช้าไม่ต้องมาเคารพธงชาติ และสวดมนต์ แต่จะเปลี่ยนให้นักเรียนไปใช้เวลากับการโฮมรูม เพื่อสื่อสารกันระหว่างครูกับนักเรียนแทน ซึ่ง รศ.ดร. อนุชาติ ก็ได้ให้เหตุผลไว้ว่า “เราคิดว่าการให้อิสระกับสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กๆ เพราะเขากำลังอยู่ในวัยที่กำลังค้นหาอัตลักษณ์ของตัวเอง เขาจะค้นหาไปเรื่อย เรามีหน้าที่คอยประคับประคอง ชี้ข้อดีข้อเสียให้กับเขา”

หลังจากที่เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นดังบนโลกออนไลน์ เสียงสะท้อนก็ได้แตกออกเป็นสองกลุ่ม คือชื่นชมถึงหลักสูตรทันสมัยน่าเรียน ถึงแม้จะแค่เริ่มต้น แต่รู้สึกว่าเริ่มเห็นแสงสว่างการทางการศึกษาของไทย ทั้งยังรู้สึกว่าเป็นระบบที่น่าเรียนรู้มาก อ่านแล้วยังตื่นเต้นแทนเด็กๆ บางความคิดเห็นก็กล่าวว่าทุกวันนี้ระบบการศึกษาบ้านเรามีปัญหามากจริงๆ ชื่นชมกับแนวคิดของทางโรงเรียนที่เห็นความสำคัญ ไม่ปล่อยผ่าน และพยายามที่จะหาทางแก้ไขปัญหานี้ ขอให้อดทนต่อคำวิจารณ์ที่ไม่สร้างสรรค์ ขณะที่ก็มีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าเป็นหลักสูตรล้างสมอง ไม่เอาประเพณีต่างๆ ที่เคยทำกันมา สอนให้เอาตัวรอดในอนาคต ซึ่งเด็กต้องเอาแต่ใจแน่ๆ อีกทั้งการไม่บังคับเรื่องทรงผมและเครื่องแบบ อาจทำให้เด็กไม่มีระเบียบวินัย หรือการสอนที่เปิดกว้างเกินไป ก็อาจจะทำให้นักเรียนหลงลืมวัฒนธรรมดั้งเดิมในไม่ช้า ซึ่งคำวิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่จะเป็นไปในมุมนี้ จนทำให้นายกรัฐมนตรีต้องออกมาจับตามองหลักสูตรเหล่านี้อย่างเข้มงวดว่าจะทำให้เกิดการบิดเบือนประวัติศาสตร์และสถาบันหรือไม่

ท้ายที่สุดกลุ่มเครือข่ายผู้ปกครองก็ออกมาปกป้องโรงเรียนและตอบโต้ถึงข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงว่า “จากความรู้สึกเสี่ยงๆ และความรู้สึกแอบกังวลของผู้ปกครองรุ่นแรก พัฒนาเป็นความเชื่อมั่น ความศรัทธา พอได้รู้จักก็รักเลย พ่อแม่สัมผัสความเปลี่ยนแปลงจากความสุขในการเรียนรู้ของลูก ความมีเหตุมีผล ยืนยันสิ่งที่ตนสนใจ มองเห็นตัวเอง นึกถึงใจผู้อื่น และแสดงออกอย่างเหมาะสม นอกจากเห็นการเปลี่ยนแปลงจากลูกแล้ว การที่พ่อแม่มีโอกาสกลับมาฟังเสียงอันจริงแท้ของตนเองในหลักสูตรห้องเรียนพ่อแม่ นำพาพ่อแม่กลับไปฟังความคาดหวังของตัวเอง ความคาดหวังต่อลูก ทำให้ค้นพบหัวใจดวงใหม่ของความเป็นแม่พ่อ ดวงตาใหม่”

ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 เฟซบุ๊คโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดเผยหนังสือชี้แจง หลังตกเป็นประเด็นเกี่ยวกับหลักสูตรและแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสน คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ลดทอนคุณค่าและความมุ่งมั่นอันแท้จริง โดยสรุปว่าเคารพความหลากหลายทางความคิดและมุมมอง เพื่อพัฒนาหลักสูตรที่ช่วยเตรียมความพร้อมเยาวชน โรงเรียนให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรและนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนบนฐานความรู้ที่ทันสมัย ครอบคลุมสาระการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้น เพื่อให้นักเรียนนำไปใช้ได้จริง และโรงเรียนมีเป้าหมายในการบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นผู้มีจิตสำนึก รู้จักคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ มีภาวะผู้นำ มีความสามารถในการกำกับตนเอง เข้าอกเข้าใจผู้อื่น และสามารถทำงานเป็นทีม ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียน

มากกว่าวิชาและความรู้คือโรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก สิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าเป็นเรื่องที่ผิดหรือถูก แต่การกล้าที่จะเปลี่ยนก็เป็นสิ่งที่ไม่ผิดและควรลอง เพราะการศึกษาของเด็กในประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดดั่งคำของ รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหาร โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กล่าวว่า “เราทุกคนรู้ดีว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้วและเปลี่ยนเร็วขึ้นทุกวัน การสร้างโมเดลการเรียนรู้ใหม่จึงจำเป็น รอดไม่รอดไม่รู้ แต่เรารู้แล้วว่าโมเดลเก่าพาสังคมล้มเหลว เราไม่ทำ”

ท้ายที่สุดก็เชื่อว่า เราทุกคนล้วนอยากให้เยาวชนของชาติได้เข้าถึงการเรียนการสอนที่มีคุณภาพในทุกพื้นที่ และได้แต่หวังว่าบทเรียนเหล่านั้นจะทำให้อนาคตของเยาวชนเติบโตขึ้นอย่างสดใส

BTimes