หนี้นอกระบบ ดอกลอย จ่ายรายวันบานเบอะทะลุเงินต้น สูงลิ่วยิ่งกว่าดอกเบี้ยในระบบมากกว่าเท่าตัว ปัญหาใหญ่ในบ่วงกับดักหนี้คนไทยต้นตอฉุดเศรฐกิจไทยดิ่ง

1225
0
Share:

หนี้นอกระบบ ดอกลอย จ่ายรายวันบานเบอะทะลุเงินต้น สูงลิ่วยิ่งกว่าดอกเบี้ยในระบบมากกว่าเท่าตัว ปัญหาใหญ่ในบ่วงกับดักหนี้คนไทยต้นตอฉุดเศรฐกิจไทยดิ่ง

ปัจจุบัน “หนี้สิน” กลายเป็นปัญหาที่อยู่ในสังคมมานาน แถมทุกวันนี้ยังกลายเป็นปัญหาในระบบที่ลงรากลึก มีผลต่อการใช้จ่าย กำลังซื้อ ส่งต่อไปถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะปัญหา “หนี้นอกระบบ” ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของหน่วยงานและสถาบันการเงิน

หลายคนคงจะเคยเห็นโฆษณาใบปลิวหรือนามบัตรที่ติดอยู่ตามเสาไฟฟ้า ป้ายรถเมล์ ห้องน้ำ หรือแม้กระทั่งในโลกออนไลน์ ในทำนองว่า “ได้เงินทันใช้ อนุมัติไว กู้สะดวก ไม่ตรวจบูโร” ที่ดึงดูดให้คนร้อนเงินสนใจแน่นอน

ยิ่งทุกวันนี้ค่าครองชีพสูง ข้าวของแต่ละอย่างแพงขึ้น หลายคนอาจะชักหน้าไม่ถึงหลัง ความจำเป็นต้องใช้เงิน ไม่ว่าจะเพราะหมุนเงินไปจ่ายหนี้เดิม ต้องเอาไปลงทุน จ่ายค่าเทอมลูก และสาเหตุอีกอย่างก็คือกู้เงินในระบบไม่ได้ เพราะมีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่ธนาคารกำหนด หรืออาจจะมีหนี้ในระบบมากมายจนกู้เพิ่มไม่ได้แล้ว ทำให้หลายคนตัดสินใจพึ่งพาหนี้นอกระบบ

แต่หนี้นอกระบบกลับกลายเป็นหนี้พอก ดอกเบี้ยท่วม ประเภทดอกลอยยิ่งทวีคูณความโหดขึ้นไปอีก นอกจากเจ้าหนี้โหดเหมือนในละคร ดอกเบี้ยยังโหดอีก เพราะเป็นเงินกู้ที่ลูกหนี้จ่ายแต่ดอกเบี้ยทุกวันไปเรื่อยๆ ไม่เคยตัดเงินต้น จนกว่าจะมีเงินก้อนมาจ่ายเงินต้นทั้งหมดจึงหมดหนี้ จากเงินกู้ไม่กี่พันบาทอาจกลายเป็นต้องจ่ายเงินเพื่อใช้หนี้ไปเป็นหลักหมื่นหรือหลักแสน ซึ่งอาจจะทำให้หลุดออกจากวงจรหนี้นอกระบบไม่ได้สักที

สิ่งที่น่าตกใจมากที่สุดนั่นก็คือ “ดอกเบี้ยหนี้นอกระบบ” ซึ่งข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ รายงานมานั้น เรียกได้ว่า ถ้าคนไม่เคยกู้อาจมีช็อก!! โดยบรรดาเจ้าหนี้ที่บอกว่าคิดดอกเป็นแบบรายวัน ดูเหมือนไม่มาก แต่ถ้าคิดออกมาเป็นรายปีแล้ว “สูง” จนน่าตกใจ บางรายกู้เงิน 10,000 บาท จ่ายคืนวันละ 150 บาท ระยะเวลากู้ 3 เดือน ถ้าคำนวณเทียบดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายรายวัน จะอยู่ที่ประมาณ 140% เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยรายปีของธนาคารก็เท่ากับว่าแค่ 3 เดือน แต่กลับต้องจ่ายดอกเบี้ยพอๆ กับจ่าย 1 ปีของสินเชื่อธนาคารที่ 140% เลยทีเดียว

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่า “หนี้นอกระบบ” นั้น ปัจจุบันครัวเรือนเป็นหนี้นอกระบบสูงกว่า 20% คิดเป็น 3.48 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 1 ใน 5 ยังกู้เงินนอกระบบเพราะไม่อาจเข้าถึงแหล่งเงินของประเทศได้ เพราะการดำเนินมาตรการนโยบายการกำหนดเพดานดอกเบี้ยในระบบ ดูเหมือนจะเป็นความพยายามแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากภาวะดอกเบี้ยลอยตัว แต่ความจริง “สร้างปัญหาให้ประชาชนเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ” เพราะสถาบันการเงินในระบบไม่ยอมปล่อยกู้ให้ผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูง “ด้วยดอกเบี้ยเพดานตามทางการกำหนด” ดังนั้นการแก้ปัญหาคิดดอกเบี้ยสูงของสถาบันการเงินในระบบต้องเปิดเสรีแข่งขัน “ไม่ใช่กำหนดเพดาน” เพื่อให้ดอกเบี้ยไม่สะท้อนความเสี่ยงของผู้กู้

ฉะนั้นการกำหนดเพดานดอกเบี้ยในระบบ “ชาวบ้านไม่มีทรัพย์สิน หรือไม่มีรายได้” มักเข้าขอใช้บริการทางการเงินไม่ได้ กลายเป็นผลักหนี้นอกระบบเพิ่มโดยไม่ได้ตั้งใจอยู่ทุกวันนี้

ล่าสุด รัฐบาลโดยการนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้ประกาศให้หนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ โดยได้มอบนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงนายอำเภอ และผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรทั่วประเทศ ในการร่วมกันช่วยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินที่สูงอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงการทวงถามหนี้ที่มีลักษณะคุกคาม ขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้ายได้มีที่พึ่ง และใช้อำนาจที่มีของเจ้าหน้าที่รัฐในการช่วยเหลือประชาชน ให้หลุดพ้นจากหนี้นอกระบบ

ที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. รัฐบาลได้เปิดให้ลูกหนี้นอกระบบลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือผ่านจากทางออฟไลน์และออนไลน์ ล่าสุดนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่าประชาชนได้ลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นวันที่ 7 ครบ 1 สัปดาห์ ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 7 ธ.ค. 2566 พบว่ามีประชาชนลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ รวมทั้งสิ้น 75,199 ราย จำนวนเจ้าหนี้ 47,174 ราย มีมูลหนี้รวม 3,820.36 ล้านบาท

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าหลังลงทะเบียนลูกหนี้ ส่วนกลางจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และส่งต่อให้ท้องถิ่นดำเนินการไกล่เกลี่ย เพื่อกำหนดข้อตกลงที่เป็นธรรม และหลังไกล่เกลี่ย รัฐบาลพร้อมช่วยเหลือ เข้าถึงแหล่งเงินที่ถูกกฎหมาย หากเกิดการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง เข้าองค์ประกอบความผิดครบ จับทันที ไม่มีละเว้น และมีระบบให้ผู้ลงทะเบียนติดตามผลได้ทุกระยะ

ทั้งนี้ ท่านนายกเศรษฐายังได้ย้ำด้วยว่าขั้นตอนการไกล่เกลี่ยเป็นทั้งศาสตร์ที่มีเรื่องคำนวนอัตราดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยว และต้องใช้ศิลปะในการเจรจา หากทั้งสองฝ่ายไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการเจรจา ต้องใช้ทั้งไม้อ่อน ด้วยการไปเชื้อเชิญให้เกิดความสมัครใจ และบางครั้งอาจต้องใช้ไม้แข็ง ซึ่งเป็นบังคับใช้อำนาจตามกฎหมาย ไม่ปล่อยผ่าน

ด้านนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มองว่า เป็นโครงการที่ดี ถ้าหากดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา และได้เสนอให้มีการแยกประเภทเจ้าหนี้ เพราะหนี้นอกระบบนั้นมีทั้งแบบคนใกล้ชิดกู้กันเอง และเจ้าหนี้ที่เป็นผู้มีอิทธิพล ขออย่าเหมารวมว่าผู้ที่ปล่อยกู้จะเป็นผู้มีอิทธิพล แต่หากพบว่าเป็นผู้มีอิทธิพลที่มีพฤติกรรมทำร้ายประชาชน ยิ่งต้องเร่งปราบปราม

แบงก์ชาติได้เสนอวิธี ถ้ากรณีเป็นหนี้ จะหาทางออกอย่างไร โดยมีด้วยกัน 3 วิธีดังต่อไปนี้

1. หาเงินมาปิดหนี้
เริ่มต้นด้วยการลดรายจ่ายไม่จำเป็นลง เช่น ค่าชอปปิง ค่าอาหารมื้อพิเศษ ค่ากาแฟ ค่าเหล้า ค่าบุหรี่ ค่าหวย หารายได้เพิ่มเติมจากความถนัดหรืองานอดิเรกของตัวเอง และลองรวบรวมข้อมูลทรัพย์สินที่มีอยู่ว่ามีอะไรที่น่าจะมีคนสนใจซื้อและขายออกไปได้บ้าง เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ ซึ่งการตัดใจขายทรัพย์สิน

2. หาแหล่งเงินกู้ในระบบ
สอบถามธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งอาจมีโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบออกมาเป็นระยะ หรือขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่างๆ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งมีทั้งแบบที่ไม่มีหลักประกันและมีหลักประกัน (เช่น บ้านหรือทะเบียนรถ) เป็นต้น

3. หาคนกลางมาช่วยไกล่เกลี่ยประนอมหนี้
โดยให้ติดต่อสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) สำนักงานอัยการสูงสุด สายด่วน 1157 โดยคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัดจะช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้นอกระบบให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย

นอกจากนี้ ลูกหนี้นอกระบบสามารถขอคำปรึกษาและร้องเรียนปัญหาหนี้นอกระบบได้ที่หน่วยงานราชการต่างๆ ได้แก่ ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ กระทรวงมหาดไทย และศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม

ปัญหาหนี้นับเป็นปัญหาใหญ่ และมีผลกระทบต่อการก้าวเดินไปข้างหน้าของจีดีพีไทย อย่างที่หลายหน่วยงานเรียกขานว่าคนไทยติดกับดักหนี้ แต่ก็เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากเป็นหนี้ หากจำเป็น หลวมตัว หรือจำใจจนต้องเป็นหนี้นอกระบบแล้ว ต้องยึดคติสำคัญในใจเลยคือ “เป็นหนี้ ต้องใช้” ซึ่งไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ หรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ต่างก็แนะนำไปในแนวทางเดียวกัน นั่นก็คือปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย นำเงินไปสะสางหนี้ให้หมดไป และเริ่มต้นเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินใหม่ เงินใหม่ที่หามาได้เก็บออมทันทีก่อนใช้ ถ้ายังไม่มีเงินออมเผื่อฉุกเฉิน ให้รีบตั้งเป้าหมายและลงมือออมเงิน เพื่อเป้าหมายนี้เป็นอย่างแรก ใช้น้อยกว่าที่หาได้ และไม่ก่อหนี้เกินตัว จะได้ไม่ต้องกลับไปสู่วังวนของหนี้นอกระบบอีกครั้งหรือครั้งแล้วครั้งเล่าอีกต่อไป…

BTimes