สายดื่มชอบชื่อแบรนด์ไหน? เบียร์คาราบาว หรือ เบียร์เยอรมันตะวันแดง

896
0
Share:

สายดื่มชอบชื่อแบรนด์ไหน? เบียร์คาราบาว หรือ เบียร์เยอรมันตะวันแดง

เรียกว่าเป็นการเปิดหน้าท้าชน “สิงห์ กับ ช้าง” หลัง เสถียร เสถียรธรรมะ ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด หรือ คาราบาว กรุ๊ป แย้มว่าพร้อมควักเงิน 4,000 ล้านบาท เพื่อเปิดตัวเบียร์ยี่ห้อใหม่ป้ายแดง โดยจะเลือกระหว่างชื่อ “เบียร์คาราบาวแดง” หรือ “เบียร์ตะวันแดง” และคาดว่าจะพร้อมวางขายในไตรมาสที่ 4 ปีนี้

การตัดสินใจลงมาเล่นตลาดเบียร์ของ คาราบาว กรุ๊ป ในครั้งนี้ถือว่าน่าสนใจ เพราะเบียร์นั้นเป็นตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่มากทีเดียว หากนับเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลสำรวจจาก Euromonitor พบว่าคนไทยมีสัดส่วนปริมาณการบริโภคเบียร์สูงถึง 71.3% ขณะที่สุรามีสัดส่วนเพียง 26.7% เท่านั้น หมายความว่า 7 ใน 10 ของคนไทยเลือกดื่มเบียร์มากกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น

หากย้อนไปดูตัวเลขไปเมื่อปี 2564 ในปีนั้นตลาดเบียร์ในไทยโดยรวมมีมูลค่าถึง 2.6 แสนล้านบาท เป็นของ บจก.บุญรอดบริวเวอรี่ 57.9% บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ 34.3% บจก.ไทย เอเชียแปซิฟิค บริวเวอรี่ 4.7%

เมื่อแยกออกมาเป็นแบรนด์ พบว่า ‘ลีโอ’ มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 44.8% รองลงมาคือ ‘ช้าง’ 31.2% ตามมาด้วย ‘สิงห์’ 11.2% ‘ไฮเนเกน’ 3.8% และ ‘อาชา’ 2.4%

ส่วนในปี 66 คาดว่ามูลค่าตลาดเครื่องดื่มเบียร์จะอยู่ที่ 9,460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 312,180 ล้านบาท และคาดว่าในช่วงปี 2023-2025 หรือ 2 ปีจากนี้ไป จะโตเฉลี่ย 6.96% นอกจากนี้ยังมีตัวเลขคาดการณ์ออกมาอีกว่า นักดื่มเบียร์ชาวไทยจะดื่มเบียร์เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 29.16 ลิตรในปีนี้

และจากมูลค่าตลาดมหาศาลนี้ ปัจจุบันกลับมีเพียง 2 ยักษ์ใหญ่ที่แย่งชิงเค้กกันอยู่คือ สิงห์ และ ช้าง จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไรที่ คาราบาว กรุ๊ป จะกระโดดลงมาแบ่งเค้กชิ้นนี้

แต่การจะเข้ามาแย่งชิงตลาดครั้งนี้ก็ไม่ได้ง่ายเสียทีเดียว เพราะทั้งสิงห์ และ ช้าง ต่างมีความแข็งแกร่ง และผ่านประสบการณ์ลองผิดลองถูกมามากมายจนมาถึงจุดนี้

หากลงรายละเอียดความสำเร็จและล้มเหลวของทั้ง 2 แบรนด์ จะเห็นว่า เบียร์สิงห์นั้นเจาะกลุ่มลูกค้าคนละกลุ่มกับเบียร์ช้าง จึงตัดสินใจเปิดแบรนด์ ลีโอ ลงมาสู้ในตลาดกลางเพื่อแข่งขันกับเบียร์ช้าง จนประสบความสำเร็จมีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุด ขณะเดียวกันก็เคยผิดพลาดเมื่อพยายามดันแบรนด์ U BEER มาเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ด้วยการทำตลาดออนไลน์ แต่ไม่สำเร็จจนต้องปิดแบรนด์ไป

ด้าน ช้าง ที่พยายามพัฒนารสชาติให้ถูกคอลูกค้า ใช้กลยุทธ์ปรับลดเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ ปรับสีขวดจากสีน้ำตาลเป็นสีเขียว จนประสบความสำเร็จ รั้งส่วนแบ่งตลาดเบอร์ 2 ในไทยมาตลอด ขณะเดียวกันก็เคยผิดพลาดจากการแตกไลน์โปรดักส์มากเกินไป จนสุดท้ายต้องกลับมาโฟกัสที่ เบียร์ช้าง คลาสสิก เพียงตัวเดียว

แล้ว ‘คาราบาว กรุ๊ป’ มีจุดแข็งอะไรบ้างกับการสู้ในตลาดนี้

จุดแข็งแรกของ คาราบาว กรุ๊ป คือ มีประสบการณ์ด้านการทำตลาดเครื่องดื่ม หากดูจากสินค้าที่ปัจจุบันแข่งขันอยู่ในตลาด จะเห็นว่า คาราบาว กรุ๊ป ลงมาแข่งขันในแทบทุกตลาดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มชูกำลัง คาราบาวแดง คาราบาวกรีนแอปเปิ้ล มีน้ำดื่มตราคาราบาว ด้านตลาดกาแฟมี กาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม ตราคาราบาว และ กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผงทรีอินวัน ตราคาราบาว มีเครื่องดื่มเกลือแร่ตรา คาราบาว สปอร์ต และยังมีเครื่องดื่มวิตามินอย่าง Woody C+ Lock ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัจจุบันมีสุราขาว “ข้าวหอม”

จุดแข็งที่ 2 คือ ความพร้อมในการผลิต เพราะหากดูบริษัทในเครือจะเห็นว่า มีทั้งบริษัทที่ผลิตขวดแก้วอย่าง บริษัท เอเชียแปซิฟิกกลาส จำกัด ที่ผลิตขวดแก้วให้คาราบาวแดงประมาณ 1.3 พันล้านขวดต่อปี และบริษัท เอเชียแคน แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ผลิตกระป๋องอลูมิเนียมสำหรับเครื่องดื่ม รองรับปริมาณการผลิตสูงสุดประมาณ 1,000 ล้านกระป๋องต่อปี ขาดเพียงแค่โรงงานผลิตเบียร์

จุดแข็งที่ 3 คือ ช่องทางการขาย มี CJ Supermarket ที่เสถียร เสถียรธรรมะ เข้าไปถือหุ้นใหญ่เป็นช่องทางขายหลัก ปัจจุบันมีมากถึง 900 กว่าสาขา ในพื้นที่ 41 จังหวัด นอกจากนี้ยังใช้ CJ Supermarket เป็นช่องทางทำประชาสัมพันธ์และการตลาดต่างๆ ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมี ร้านถูกดี มีมาตรฐาน เครือข่ายร้านค้าปลีกชุมชนในระดับหมู่บ้านมากกว่า 3,000 สาขา กระจายตัวอยู่ทั้ง 62 จังหวัด (ไม่มีสาขาในภาคใต้) ยังไม่นับรวมถึง โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ที่จะกลายเป็นช่องทางที่ช่วยให้แบรนด์เข้าถึงนักดื่มได้โดยตรง

และไม่เพียงแต่ด้านการผลิต คาราบาว กรุ๊ป ยังมีบริษัท คาราบาว มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป จำกัด ที่ทำธุรกิจบริหารจัดการระบบข้อมูล จัดสรรข้อมูล วิเคราะห์ และจัดกลุ่มประเภทข้อมูล รวมถึงการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ เชื่อว่าบริษัทนี้จะเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งให้คาราบาว กรุ๊ป ได้เห็นข้อมูลเชิงลึกของผู้ดื่มเบียร์ เพื่อนำมาปรับสูตรและรูปแบบการตลาดให้ตรงใจลูกค้าได้

จากจุดแข็งทั้งหมดของคาราบาว กรุ๊ป คงต้องมาดูกันว่าเงินลงทุน 4,000 ล้านบาท เป้าหมายผลิตเบียร์ 2-3 รสชาติ รวม 400 ล้านลิตรต่อปี และต้องการเจาะกลุ่มทุกเซกเมนต์จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ปลายปีนี้คงได้รู้กัน

BTimes