นักเรียน…พักเรียน 1 ปี! เรียนออนไลน์ไม่ใช่จะได้กับทุกคน พ่อ แม่ นักเรียนทุกคนคิดยังไงกันบ้าง

1109
0
Share:

หยุดเรียน 1 ปี

ต้องยอมรับจริงๆ ว่าสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในประเทศไทยนั้นมีความหนักหน่วงมาก และลากยาวมาตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังมีผู้ป่วยสะสมนับตั้งแต่ 1 เมษายนแล้วกว่า 8 แสนราย (ตัวเลขจากการรายงานเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564) ส่งผลกระทบสะเทือนไปในทุกแวดวงสังคม ลามไปถึงระบบการศึกษา เรียกได้ว่าตอนนี้คุณครูและนักเรียนในประเทศต้องรับศึกหนักกันพอสมควร รวมไปถึงต้องปรับตัวเองเข้าสู่การเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายทางด้านอุปกรณ์ค่อนข้างสูง กระทบถึงเด็กหลายคนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในส่วนนี้จำต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ล่าสุดทางด้านนักวิชาการจึงมีข้อเสนอให้หยุดการเรียนการสอนเป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากถ้าต้องเรียนออนไลน์ต่อ การเรียนจะไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีคุณภาพ แต่ข้อเสนอนี้จะเกิดขึ้นและเป็นไปได้หรือไม่?

จากการที่ รศ.ดร.นาวาอากาศโท ดร.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตกำแพงแสน ได้มีข้อเสนอให้หยุดการเรียนการสอนทั่วประเทศเป็นระยะเวลา 1 ปี เนื่องจากการเรียนออนไลน์ไร้ประสิทธิภาพ และส่งผลกระทบต่อนักเรียน นักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กปฐมวัย และนักเรียนชั้นประถม สอดคล้องกับที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ได้เผยผลวิจัยที่ชี้ว่าเด็กไทยเครียดจากการเรียนออนไลน์ ทำให้โดดเรียนออนไลน์มากกว่า 20% ซึ่งตรงกับผลสำรวจจากทั่วโลกที่ระบุว่าถ้าเด็กๆ ต้องเรียนออนไลน์จะเกิดความถดถอยทางการศึกษาประมาณ 20–50% และไม่เห็นด้วยหากต้องเรียนออนไลน์ต่ออีก 1 ปี เพราะเป็นการตัดสินใจที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก

นอกจากนี้ ศ.ดร.สมพงษ์ ยังกล่าวต่อว่า ระบบการศึกษาไทยเป็นระบบอนุรักษนิยมที่ติดกรอบ ติดระเบียบไปหมด บวกกับความกลัวการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ระบบการศึกษาหดตัว ถดถอย จึงกลายเป็นความกลัวเกินเหตุ ส่งผลให้การจัดการศึกษาไม่ตอบสนองกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และสถานศึกษาต้องปรับการเรียนการสอนตาม 5 รูปแบบที่ ศธ.กำหนด คือ On–site, On–air, On–demand, On–line และ On–hand แทนการสอนปกติแทบทั้งหมด
ทั้งนี้ การหยุดการเรียนการสอนออนไลน์ไปอีก 1 ปีที่เสนอไปนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะถ้าต้องเรียนออนไลน์ต่อ การเรียนจะไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีคุณภาพ ซึ่งการหยุดเรียนทั้งระบบการศึกษา เพื่อไปเริ่มต้นใหม่ในปีหน้าจะช่วยทำให้การเรียนการสอนมีคุณภาพ แต่หากหยุดเรียน 1 ปีก็จะมีผลกระทบในเรื่องของการเสียโอกาส และเสียเวลาด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าทางภาครัฐจะตัดสินใจอย่างไร ก็ขอให้คำนึงถึงประโยชน์ของนักเรียนเป็นหลัก

ต่อมาในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า คงเป็นไปไม่ได้หากจะให้นักเรียนหยุดเรียน 1 ปี เพราะจะมีผลเสียมากกว่าผลดี ซึ่งกระทรวงไม่ได้นิ่งนอนใจ และพัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดทำโครงการสอนออนไลน์ตั้งแต่ชั้น ป.1–ม.6 เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ได้จากทุกที่ทุกเวลา โดยผู้เรียนสามารถกำหนดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้จะไม่ได้จำกัดแค่ในห้องเรียน

เด็กไทยหลุดจากระบบการศึกษา เพราะพ่อแม่ตกงานจึงไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พบว่าเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบด้านการศึกษามีจำนวนมาก สาเหตุหลักก็มาจาการที่ผู้ปกครองตกงาน ขาดรายได้ ส่งผลให้ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าเทอมได้ทันเวลา ทำให้เยาวชนกลุ่มนี้ต้องหยุดเรียนไปโดยปริยาย สอดคล้องกับข้อมูลของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณด้านการศึกษา เนื่องจากหลังการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้เด็กเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษา อีกทั้งกสศ. ยังได้รายงานตัวเลขผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ในปี 2563 ผู้ปกครองยากจนเพิ่มขึ้นจาก 300,000 คน เป็น 700,000 คน และจะเพิ่มขึ้นอีกในปี 2564 โดยเด็กที่จะได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรก คือกลุ่มที่มีรายได้น้อย ทำให้เกิดภาวะยากจนเฉียบพลันมากขึ้นราว 10% กลุ่มนี้มีบุตรหลานอยู่ในระบบการศึกษาอยู่ราว 150,000–300,000 คน และกลุ่มที่สอง คือนักเรียนยากจนพิเศษ ที่เป็นกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อในระดับชั้น อ.3, ป.6, ม.2, ม.3 และ ม.6 ที่มีมากกว่า 400,000 คน

นอกจากนี้ยังมีรายงานจากธนาคารโลก (World Bank) ที่ระบุว่าการปิดโรงเรียนเนื่องจากโรคระบาด ทำให้นักเรียนกว่า 1,600 ล้านคนต้องออกจากโรงเรียน (ตัวเลขสูงสุดในเดือนเมษายน ปี 2020) ตามต่อด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ทำให้เด็กจบใหม่สูญเสียรายได้ที่เขาควรจะหาได้หลังจากเรียนจบกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ นี่คือตัวเลขมูลค่าความเสียหายที่นักเรียนนักศึกษายุคโควิด-19 ได้รับผลกระทบ ทั้งยังได้ออกมาเตือนอีกว่าปัญหาการอ่านของเด็กอาจขยายเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ใน 3 ของนักเรียนในประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ขณะที่ในประเทศต่างๆ ที่เลือกใช้มาตรการปิดโรงเรียนจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเด็กที่มีพร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์ กับเด็กที่ขาดแคลนไม่มีความพร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์มีช่องว่างเพิ่มมากขึ้น

สุดท้ายการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากเด็กที่กำลังศึกษาและเผชิญปัญหาโดยตรง น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการที่ผู้ใหญ่ออกมาตัดสินกันเองว่าเด็กควรจะต้องทำ หรือปรับตัวอย่างไรในยุคที่โลกต้องเจอการระบาดของโรคที่รุนแรง และที่สำคัญในตอนนี้ประเทศไทยก็ยังไม่มีนโยบายให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีได้รับวัคซีนเลยแม้แต่คนเดียว อีกทั้งเด็กหลายคนก็ไม่มีเวลามากพอที่จะยอมเสียเวลาต่ออีก 1 ปีได้ ดังนั้นการเร่งจัดหาวัคซีนคุณภาพที่เหมาะกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จึงเป็นจุดสำคัญที่สุดที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรเร่งจัดการ เพื่อช่วยกระตุ้นภูมิและทำให้เด็กสามารถกลับไปเรียนตามปกติได้ดังเดิม

BTimes ขอเป็นกำลังใจให้กับเด็กนักเรียนและคุณครูทุกคนสามารถก้าวผ่านวิกฤตโรคระบาดที่แสนสาหัสนี้ไปได้ ทุกคนสู้ๆ นะคะ

BTimes