ลุ้นแพ็กเกจ “ของขวัญปีใหม่” กระทรวงไหนงัดไม้เด็ด เอาใจคนไทยเก่งสุด

475
0
Share:

ลุ้น "แพ็กเกจของขวัญปีใหม่” กระทรวงไหนงัดไม้เด็ด เอาใจคนไทยเก่งสุด

ใกล้สิ้นปีหลายคนน่าจะกำลังรอลุ้นมาตรการของขวัญปีใหม่จากรัฐบาล เพราะเหมือนว่าจะกลายเป็นธรรมเนียมประจำปีกันไปแล้ว ที่แต่ละกระทรวงเศรษฐกิจจะสรรหาแพ็กเกจของขวัญปีใหม่เอาใจประชาชนในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

ที่ผ่านมาก็พากันคาดเดาว่ารัฐบาลเตรียมจะปัดฝุ่นมาตรการเก่าๆ หลายมาตรการ โดยเฉพาะ “ช้อปดีมีคืน” หรือเรียกได้ว่าก๊อบมาจากมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ก็ไม่ผิด เป็นหนึ่งมาตรการที่ประชาชนชื่นชอบพอๆ กับมาตรการ “คนละครึ่ง” ที่ถูกอกถูกใจหลายคนพอสมควร เพราะรัฐบาลถึงขั้นต่อมาตรการมาหลายเฟส

สำหรับมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ที่คาดว่ารอบนี้จะนำกลับมาใช้นั้น ได้ขยับวงเงินในการนำมาหักลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 40,000 บาท เลยทีเดียว โดยส่วนที่เพิ่มขึ้นจะเป็นส่วนของ e-Bill หรือบิลอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 10,000 บาท นอกเหนือไปจากใบเสร็จรับเงินที่เป็นกระดาษที่นักช้อปคุ้นเคย โดยสามารถนำมาหักภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท

ในส่วนของกำหนดระยะเวลาของมาตรการ เบื้องต้นได้กำหนดไว้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว คือ การซื้อสินค้าในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ.66 โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายไปขอหักลดหย่อนภาษีในปีภาษี 66 หรือ ในช่วงของการเสียภาษีวันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 67 ซึ่งก็เท่ากับว่าจ่ายเงินล่วงหน้า แต่เอาไปหักลดหย่อนได้ในปีภาษีถัดไปนั่นเอง

มาตรการนี้คาดว่าจะทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้ไปกว่า 8,200 ล้านบาท แต่มั่นใจว่าจะทำให้มีเม็ดเงินลงไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่น้อยไปกว่า 56,000 ล้านบาท

และหากย้อนกลับไปในปี 61 ที่รัฐบาลก็ชูประสิทธิภาพของมาตรการนี้ โดยในปีนั้นมีเวลาใช้จ่ายนานถึง 1 เดือน คือระหว่างวันที่ 15 ธ.ค. 61-15 ม.ค. 62 ที่หักลดหย่อนได้เท่าเดิมที่ 15,000 บาท แต่ทำให้มีเงินสะพัดประมาณ 12,000 ล้านบาท

ส่วนปี 63 ตั้งแต่ 23 ต.ค.-31 ธ.ค. 63 ที่ยาวนานถึง 67 วัน แต่หักภาษีได้ 30,000 ล้านบาท มีเงินสะพัดราว 1.11 แสนล้านบาท

ขณะที่ปี 64 มาตรการที่ออกมาล่าช้าจึงเว้นช่วงไปเป็นต้นปี 65 คือวันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา หักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30,000 ล้านบาท คาดการณ์กันว่าจะมีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจราว 40,000-50,000 ล้านบาท

ส่วนอีก 2 มาตรการ ที่ประชาชนยังรอว่าจะมีหรือไม่มี ทั้ง “คนละครึ่งเฟส 6” และ “เราเที่ยวด้วยกัน” คาดว่า ครม. จะมีการพิจารณากันไม่เกินวันที่ 29 พ.ย.นี้ ที่จะทันใช้ช่วงส่งท้ายปีนี้หรือไม่ก็ยังลุ้นกันอยู่ หากนำกลับมาจริง รัฐบาลก็คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคได้ดีเหมือนเดิม ซึ่งกระทรวงการคลังจะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณที่มาจากงบกลางส่วนหนึ่ง และเงินกู้ที่ยังเหลืออยู่ขณะนี้

ขณะที่อีกมาตรการที่ประชาชนรอคอย หวังจะได้รับของขวัญจากรัฐบาลไม่แพ้ “ช้อปดีมีคืน” ก็คือ “มาตรการช่วยค่าไฟ” ซึ่งล่าสุด เป็นที่แน่นอนแล้วว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เคาะแล้วว่าให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 4.72 บาท/ต่อหน่วย ไปจนถึงไตรมาส 2 ของปีหน้า หรือในงวด ม.ค.-เม.ย. 66 ช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนกลุ่มผู้ใช้ไฟรายย่อยขนาด 300-500 หน่วย ซึ่งมี 17 ล้านคนทั่วประเทศ

แต่ก็มีเสียงจากประชาชนจากกลุ่มรายได้ปานกลางหรือบรรดามนุษย์เงินเดือน ที่ต้องสู้กับภาวะค่าครองชีพอย่างดุเดือดไม่แพ้กลุ่มรายได้น้อย หลายบ้านคงต้องกัดฟันสู้กับภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง และก็ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐบ้างเหมือนกัน ซึ่งที่ประชุม กพช.เอง ได้สั่งให้ กกพ. ไปเร่งศึกษาการจัดทำอัตราค่าไฟฟ้าช่วยกลุ่มประเภทบ้านอยู่อาศัยที่มีการใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือนขึ้นไปด้วย แม้จะไม่รู้ว่าเมื่อไรจะเสร็จออกมาให้ทันใช้สู้กับค่าไฟแพงก็ตาม

บรรดามาตรการที่ BTimes นำมาฝากนี้ ยังเป็นแค่น้ำจิ้มและหลายๆ คนจะยังหวังอยู่ว่ารัฐบาลจะมีมุกแบบใหม่แบบสับ หรือมีมาตรการอะไรที่แปลกใหม่เพิ่มขึ้นมา นอกเหนือจากการนำเอามาตรการเก่าเก็บมารื้อใหม่ เอาเป็นว่าอาจจะต้องรอลุ้นกันต่ออีกหน่อย เพราะยังเหลืออีกตั้ง 1 เดือนแน่ะกว่าจะปีใหม่เนอะ…

BTimes