โควิดพลิกกระดานอุตสาหกรรมไทย ทุนหาย กำไรหด สาหัสหนักเข้าขั้นโคม่า…

1333
0
Share:

โควิด-19 พลิกกระดานอุตสาหกรรมไทย ทุนหาย กำไรหด สาหัสหนักเข้าขั้นโคม่า...
การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบเชิงลบมหาศาลต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่รับศึกหนัก ผลักจีดีพีดิ่งลงเหวตั้งแต่ปี 2563 ลามยาวถึงปีนี้ หลายธุรกิจต้องเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กร บางแห่งถึงขั้นยุบรวม หรือแม้แต่การรัดเข็มขัดลดสารพัดต้นทุน กระทบต่อไปถึงบรรดาลูกจ้างที่ถูกลดเวลาการทำงาน พักงานทั้งแบบที่ได้รับและไม่ได้รับเงินเดือน ร้ายแรงที่สุดคือการปลดแบบสายฟ้าฟาด บางคนโชคดีหน่อยก็ได้รับค่าชดเชยจากการจ้างออก แต่บางคนก็ต้องผิดหวัง เก็บของออกไปโดยได้รับเพียงค่าแรงเดือนสุดท้าย… แต่ก็มีบางอุตสาหกรรมที่สามารถเติบโตสวนกระแส กลายเป็นองค์กรที่มีรายได้ติดท็อปชาร์ตในช่วงระยะเวลาเพียงข้ามคืน ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วฉับพลันก็อาจส่งผลกระทบที่ก่อให้เกิดปัญหาตามมาเช่นกัน

เศรษฐกิจไทยกับกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก
จริงๆ ต้องยอมรับว่าโควิด-19 เล่นงานธุรกิจหนักแทบทุกอุตสาหกรรม แต่ที่เห็นชัดมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม การบิน และค้าปลีก ซึ่งกระทบและสร้างความเสียหายอย่างไรบ้าง ตาม BTimes มาดูกันได้เลยค่ะ

1. กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักเป็นลำดับแรก เนื่องจากโควิด-19 เริ่มตีวงแพร่เชื้อไปในประเทศที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของไทย ส่งผลให้ต้องปิดล็อกน่านฟ้า หยุดทำการบินชั่วคราว เพื่อคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในกรอบปกติ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถคุมให้เชื้อร้ายหยุดลงได้ ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวทั้งหมดชะงักลงอย่างฉับพลัน ซึ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยก็ได้รับแรงกระแทกนี้อัดซ้ำไปแบบเต็มๆ และหากย้อนกลับไปในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 การท่องเที่ยวของไทยเองก็มีความสุ่มเสี่ยง อันเนื่องมาจากหลายปัจจัย เช่น การพึ่งพิงรายได้หลักจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีมากเกินไป ขีดจำกัดในการรองรับทั้งเรื่องของโครงสร้างและแหล่งท่องเที่ยวที่มีการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวมากเกินไป รวมถึงการต้องเผชิญกับสภาพการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศคู่แข่ง เป็นต้น ส่งผลให้สัดส่วนการเติบโตเริ่มถดถอย จากจุดนี้เมื่อนำไปรวมกับวิกฤตโรคระบาดก็จะเห็นชัดเจนว่าการท่องเที่ยวในประเทศไทยซบเซาลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งยังส่งแรงสะเทือนไปถึงธุรกิจที่อยู่ร่วมวงโคจรเดียวกันให้ได้รับผลกระทบสาหัส จนเข้าขั้นโคม่าเลยทีเดียว

2. กลุ่มธุรกิจสายการบิน
จากการปิดน่านฟ้าเพื่อคุมการระบาด ทำให้บรรดาสายการบินต้องหยุดทำการบินทั้งแบบชั่วคราวและถาวรไปโดยปริยาย นั่นหมายถึงการสูญเสียรายได้อย่างมหาศาล จากที่ต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันสูง เล่นเอาบางสายการบินถึงขึ้นที่รายตกหล่มอยู่ในสภาวะการขาดทุนสะสมมายาวนาน ยิ่งสายป่านร่อแร่ แล้วมาเจอโควิด-19 ซ้ำ ส่งผลให้ในที่สุดหลายสายการบินต้องเดินหน้าเข้าสู่สภาวะล้มละลาย ยุติการดำเนินกิจการ เพราะไม่มีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการตั้งแต่ต้นปี 2563 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่บางสายการบินก็ไม่ย่อท้อ เร่งปรับตัว ดึงจุดเด่นขึ้นมาสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ เพื่อยื้อให้ยังสามารถไปต่อได้ ยกตัวอย่างสายการบินชื่อดังของไทยก็ได้ปรับตัว หันมาทำอาหาร Delivery หรือขายปลาท่องโก๋แสนอร่อยจนกลายเป็นกระแสการบอกต่อบนโซเชียลมีเดีย ทำให้หลายคนยอมอดตานอนไปต่อแถวซื้อกันตั้งแต่เช้า

3. กลุ่มธุรกิจโรงแรม
ผลกระทบคลื่นลูกต่อไปถูกส่งไปให้กับธุรกิจโรงแรมอย่างทันที เพราะเมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวก็เท่ากับไม่มีลูกค้า จากที่เคยมีการจับจองเต็มทุกห้องในช่วงเทศกาลสำคัญ กลับต้องเงียบเหงาชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนเจ้าของโรงแรมต้องยกเครื่องใหม่ เสิร์ฟสารพัดโปรโมชั่นมากระตุ้นการท่องเที่ยว หรือแม้แต่การนำของดีของขึ้นชื่อออกมาวางจำหน่ายในราคาที่ทุกคนเอื้อมถึง รวมถึงบางแห่งต้องปรับรูปแบบจากที่เคยให้พักรายวัน ก็เป็นเช่ารายเดือน กระเทือนถึงเหล่าลูกจ้างที่ถูกเพิ่มฟังก์ชันการทำงานให้ต้องทำได้มากกว่า 1 หน้าที่ เพื่อสร้างหนทางรอดตายบนพายุโรคระบาด

4. กลุ่มธุรกิจค้าปลีก
สำหรับภาคอุตสาหกรรมค้าปลีกก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้ที่กล่าวมาข้างต้น เพราะเมื่อประชาชนรายได้หด ส่งผลให้การจับจ่ายที่เคยอู้ฟู่กลับหายวับไปในพริบตา หรือบางคนที่ยังมีรายได้ประจำก็เริ่มรัดเข็มขัดแล้วลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นออกไป ซึ่งจากรายงานของ aCommerce พบว่า กำลังการซื้อสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่น, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, ผลิตภัณฑ์เสริมความ และผลิตภัณฑ์เพื่อสัตว์เลี้ยงลดลงอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากการที่ร้านค้ารายย่อยตามแหล่งช้อปปิ้งเริ่มหายไป กลายเป็นพื้นที่ร้างที่แทบไม่มีคนเดิน นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่า แนวโน้มการใช้บริการศูนย์การค้าต่อไปในอนาคตจะค่อยๆ ลดลง สืบเนื่องจากการที่ประชาชนเริ่มหันไปบริโภคสินค้าทางช่องทางอื่นที่ไม่ต้องออกจากบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ดาวเด่น E-Commerce ที่เติบโตจนน่าตกใจสวนกระแสเศรษฐกิจไทยที่พังเละเทะ
แม้ว่าในปีนี้ หลายธุรกิจจะประสบปัญหาหนักมาก แต่ก็เป็นปีที่ได้เห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจ e-Commerce ที่เปรียบเสมือนไฟในการจุดประกายให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ และแพลตฟอร์ม e-Marketplace ที่น่าสนใจ ซึ่งถือว่าเป็นการเอาตัวรอดอย่างชาญฉลาด ที่มาพร้อมกับการแข่งขันสุดดุเดือดของทั้งผู้ขายและผู้ให้บริการ จากจุดนี้ก็คงต้องยอมรับว่าเกมศึกครั้งนี้ยังอีกยาวไกล ผู้เล่นยังคงต้องสู้กันต่อไปเพื่อเข้าเส้นชัยในอนาคตให้ได้นั่นเอง

แม้จะเพิ่งเปิดปีวัว 2564 มาได้ไม่นาน แต่ต้องยอมรับจริงๆ ค่ะว่าโควิดไม่กระจอกเลย ดังนั้นก็อยากขอความร่วมมือให้ทุกคนช่วยกันป้องกันดูแลตัวเอง ซึ่งทีมงาน BTimes ก็ขออวยพรให้ทุกท่านจงก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้ พร้อมกับเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อาจจะเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ในอนาคต สำคัญจริงๆ คือท้อได้ แต่อย่าถอย พร้อมลุยแก้ไขสู้ไปทุกสถานการณ์ สุดท้ายทีมงาน BTimes ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ สู้ๆ ค่ะ ^^

BTimes