เริ่มนับถอยหลังอีกไม่กี่วันจะสิ้นปี 2567 แล้ว หลายคนอาจจะกำลังวางแผนการใช้จ่าย ลงทุนในปีหน้า หรือจัดแจงภาระหนี้ที่ทั้งปีที่จ่ายไป หนี้สินทุเลาลงแค่ไหนแล้ว จะรีไฟแนนซ์ยังไงดี แต่ละมื้อ แต่ละเดย์… ตลอดปีที่ผ่านมาถือว่าเหนื่อยกันมามาก
ที่เหนื่อยไม่ต่างกันก็คือเศรษฐกิจไทย เพราะที่ผ่านมาต้องเจอกับสภาวะผันผวนมาอย่างต่อเนื่อง แม้หลายหน่วยงานจะมองว่ามีสัญญาณดีขึ้น โดยเฉพาะสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่าภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสินค้า ขยับตัวต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการ Easy E-Receipt เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน แต่ทว่าการฟื้นตัวไม่ทั่วถึง กระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวกับภาคท่องเที่ยว ค้าปลีก บริการต่างๆ
<ท่องเที่ยว ส่งออกเครื่องยนต์หลักดึงเศรษฐกิจฟื้น>
รายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าภาคการท่องเที่ยว ถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่โดดเด่นที่สุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รายงานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทะลุเป้าถึง 36 ล้านคน สร้างรายได้มหาศาลกว่า 1.69 ล้านล้านบาท ส่วนภาคการส่งออกของไทยกำลังส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น แม้เศรษฐกิจโลกจะยังมีความไม่แน่นอน การลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานยังคงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งระหว่างภูมิภาค และโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จะช่วยกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค โดยคาดว่าอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณจะทำได้ถึง 90% ซึ่งจะช่วยสร้างงานและกระตุ้นการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในวงกว้าง
<วิกฤตหนี้ครัวเรือนยังฉุดเศรษฐกิจ>
ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสำคัญนั่นก็คือ “วิกฤตหนี้ครัวเรือน” ที่พุ่งสูงถึง 86% ของ GDP ซึ่งนับเป็นระดับที่น่ากังวล เนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร
รวมทั้งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน ที่ส่งผลต่อการเจรจาการค้า การลงทุน และห่วงโซ่อุปทานโลก สุดท้ายวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จ่อทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และภัยธรรมชาติอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
<หนี้สินครัวเรือนลดแต่คุณภาพหนี้แย่ลง>
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 67 พบว่าหนี้สินครัวเรือนล่าสุดในช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 ขยายตัวชะลอลง มีมูลค่ารวม 16.32 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.3% จาก 2.3% ของไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับลดลงจาก 90.7% ของไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 89.6% ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่หนี้ครัวเรือนลดลงและตัวเลขจีดีพีเพิ่มขึ้น
แต่ถึงแม้หนี้สินครัวเรือนจะลดต่ำสุดนับแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ถือว่ายังมีกำลังซื้อสูง ส่วนหนึ่งเกิดจากระดับภาระหนี้ที่สูงประกอบกับคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น สะท้อนจากเงินให้กู้แก่ภาคครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 หรือ 38.5% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมดที่หดตัวเป็นครั้งแรกที่ 1.2%
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าพฤติกรรมการก่อหนี้ของคนไทย พบว่า 53% หรือ 1 ใน 2 เป็นหนี้เสียเกิดจากกลุ่มคนที่มีอายุ 20–30 ปีที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน และเป็นสัดส่วนที่ไม่เคยลดลง และกลุ่มที่เริ่มทำงานมีหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล หนี้รถ เป็นกลุ่มที่มีหนี้เสียสูงถึง 27%
ขณะที่กลุ่มเกษตรกรมีสัดส่วนรายได้ที่จ่ายหนี้คืน 34% และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอยู่ที่ 41% ทำให้มีเงินเหลือใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็นหรือเงินออมน้อยลง และยังพบด้วยว่าคนไทยเพียง 22.4% เท่านั้นที่มีเงินออมเพื่อฉุกเฉินและรองรับการว่างงานได้ 6 เดือน ขณะที่เกือบ 50% ของคนไทยพบว่ามีเงินออมเพื่อฉุกเฉินไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการก่อหนี้เพิ่มขึ้น และอีก 25% ของคนเกษียณยังใช้หนี้ไม่หมดเฉลี่ย 419,915 บาทต่อคน
ส่วนปัญหาหนี้นอกระบบ 43 % เฉลี่ย 54,300 บาทและเสียดอกเบี้ย 10 % เดือนหรือ 120 %ต่อปี และบางรายเสียดอก 20%/เดือน หรือ 240%/ปี ส่งผลให้คนไทยมีหนี้สินต่อครัวเรือน 91% ต่อ GDP โดยที่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ถึง 67% ของบัญชีหนี้ประเภท สินเชื่อส่วนบุคคลและหนี้บัตรเครดิต ในขณะที่หนี้ที่สร้างรายได้ เช่น หนี้บ้าน หนี้ธุรกิจ หนี้เพื่อทำการเกษตรมีเพียง 17% เท่านั้น
<แจกเงินหมื่น หวังบรรเทาหนี้กลุ่มเปราะบาง>
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินสดขนาดใหญ่ในปี 2567 และ 2568 ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญที่ช่วยพยุงให้เศรษฐกิจไทยพอขยายตัวต่อได้
ศูนย์วิจัยเกียรตินาคินภัทร มองว่าการแจกเงินสดรอบใหม่นี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนได้จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ สภาวะสินเชื่อที่เข้มงวดจากธนาคาร และการฟื้นตัวของรายได้ที่ยังล่าช้า มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นซึ่งมีผลต่อการบริโภคมากกว่าการแจกเงินสดเพียงครั้งเดียว
<มาตรการแจกเงินหมื่นรัฐหมดแรงส่ง>
คุณปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ย. 67 ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนลดลง หลังจากที่เร่งไปในเดือนก่อน (ต.ค.) จากมาตรการเงินโอนภาครัฐ สอดคล้องกับกิจกรรมในภาคการค้า ด้านการลงทุนภาคเอกชน ปรับลดลงจากทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้าง อย่างไรก็ดีภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ และการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นจากหมวดยานยนต์ และสินค้าเกษตรแปรรูป
<ค่าครองชีพสูง อุปสรรคคนชะลอใช้จ่าย>
จากผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 2568 พบว่าปีใหม่ปี 2568 นี้ถือว่าคึกคักกว่าที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินใช้จ่ายสะพัดในระบบเศรษฐกิจ 109,313 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ที่เริ่มฟื้นตัว
โดยประชาชนมีแผนการนำเงินไปใช้จ่าย 2 ส่วน คือ 1. ใช้เพื่อการท่องเที่ยว รวม 51,472 ล้านบาท โดยมีแผนเดินทางไปเที่ยวในต่างประเทศ 5,475ล้านบาท และเที่ยวในประเทศ 45,997ล้านบาท และ 2. ใช้ทำกิจกรรมอื่นๆ 57,841 เช่น เลี้ยงสังสรรค์ ทำบุญ และซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น
แต่ที่น่ากังวลคือแหล่งที่มาของเงินที่ใช้จ่ายในช่วงปีใหม่ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 47% นำเงินเดือนและรายได้ปกติมาใช้ รองลงมา คือเงินออม ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าในปีนี้ สัดส่วนการนำเงินออมมาใช้จ่ายปรับเพิ่มขึ้นจาก 37.4% เป็น 45.6% สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่เงินเดือนไม่พอใช้ ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ยังระมัดระวังการใช้จ่าย เพราะมองว่าเศรษฐกิจดีขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น
<ค่าน้ำมันช่วยตรึงบางช่วง ค่าไฟยังตรึงต่อถึงปีหน้า หน้าร้อนยังต้องเห็นแพง>
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. จะยังตรึงราคาค่าไฟฟ้างวดปัจจุบัน (ก.ย. – ธ.ค. 67 ) ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยเท่าเดิม หรือค่าเอฟทีอยู่ที่ 39.72 สตางค์ ส่วนกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนอัตราค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย แต่ถึงอย่างนั้นค่าไฟในช่วงหน้าร้อนจะมีการปรับขึ้นทุกปีด้วยเหตุผลทางเทคนิค ทั้งจากอากาศที่ร้อนจัดในช่วงหน้าร้อน ที่ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าต้องทำงานหนักขึ้น และเมื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานหนักขึ้นก็จะกินค่าไฟที่มากขึ้น ดังนั้นประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าก็จะต้องรับมือกับค่าไฟที่พร้อมจะพุ่งขึ้นทุกปีแน่นอน
ส่วนค่าน้ำมันไม่ต้องพูดถึง ยังเป็นที่ถกเถียงและบ่นกันทุกรอบ ขึ้นไปเท่าไร ยังลดไม่เท่ากับที่ขึ้นไปแล้วซะอีก ดังนั้นต้นทุนในส่วนของพลังงานก็ยังสูงต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นปัจจัยให้การใช้จ่ายชะลอลงไปด้วย เพราะต้องเจียดไว้มาใช้จ่ายส่วนนี้ เพราะมันจำเป็น
<ลุ้นเศรษฐกิจปี 2568 ฟื้นจริงหรือฟื้นทิพย์>
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ไว้ที่กรอบ 2.8–3.8% ค่ากลางอยู่ที่ 3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพ
แต่ยังมีข้อจำกัดที่กดดันต่อเศรษฐกิจไทย เช่น ความเสี่ยงที่เกิดจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และปริมาณการค้าโลกที่จะขยายตัวได้ต่ำกว่าคาด, ภาระหนี้สินของครัวและภาคธุรกิจยังอยู่ในระดับสูง, ความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคการเกษตร, ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์
สศช. มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการฟื้นตัว คาดการณ์การเติบโตที่ 2.9–3.4% โดยแรงหนุนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ถึง 39 ล้านคน สร้างรายได้หมุนเวียนในระบบกว่า 2 ล้านล้านบาท การลงทุนต่างชาติ และเอกชน มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น พร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จะเป็นตัวเร่งการเติบโตในระยะยาว
และจากตัวเลขท่องเที่ยว ส่งออก ที่ออกมาดี รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเสรษฐกิจต่างๆ ที่รัฐบาลประโคมออกมา ทำให้คุณแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าเศรษฐกิจปี 68 จะโตเกิน 3% โดยยังต้องพยายามจะผลักดันให้สุด ต้องผลักดันไปทุกไตรมาสจะได้ต่อเนื่อง
ส่วนในปี 67 นี้ บรรดาสำนักวิจัยเศรษฐกิจต่างๆ ก็ออกมาหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจกัน ก่อนจะสิ้นปี เช่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่เดิมคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.2% แต่ได้ลดคาดการณ์ลงมาที่ 2.8%, ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย หั่นเหลือโต 2.3% จากเดิม 3.1%, SCB EIC คาดว่าจะโตที่ 2.7% เดิมคาดไว้ที่ 3% เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังกังวลเศรษฐกิจโลก หลังจากการกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่พร้อมจะเริ่มนโยบายภาษีและสงครามการค้า ปัญหาหนี้ ภาคการผลิตที่หดตัว การบริโภคเอกชนแผ่วลง
ตัวเลขในเชิงเศรษฐศาสตร์ วิชาการก็เป็นแนวทางให้ประชาชนอย่างเราๆ เตรียมตั้งรับ เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีจะฝืดเคือง คนที่โดนผลกระทบชัดๆ ก็เห็นจะเป็นประชาชนผู้บริโภคเอง ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือเตรียมความพร้อมเพราะเราคงต้องสู้กับเศรษฐกิจนี้กันอีกยกใหญ่
แอดมิน BTimes ขอเป็นตัวแทนทีมงาน เป็นกำลังใจและขออวยพรให้แฟนๆ รายการและแฟนเพจทุกท่าน มีสุขภาพที่แข็งแรง สุขภาพการเงินที่แข็งแกร่ง มีกำลังต่อสู้กับอุปสรรคในปีหน้า ผ่านพ้นไปด้วยดีทุกๆ คน…