“Made in China” ทุบหัวค้าปลีกไทย เหมือนเป๊ะแต่ถูกกว่า กดดันผู้ผลิตสินไทยแท้เหนื่อย รัฐบาลเพิ่งตื่นรีบควานหามาตรการสกัดสินค้าจีนล้นทะลักจ้าละหวั่น

“Made in China” ทุบหัว ค้าปลีก ไทย เหมือนเป๊ะแต่ถูกกว่า กดดันผู้ผลิตสินไทยแท้เหนื่อย รัฐบาลเพิ่งตื่นรีบควานหามาตรการสกัด สินค้าจีน ล้นทะลักจ้าละหวั่น

“Made in China” ทุบหัว ค้าปลีก ไทย เหมือนเป๊ะแต่ถูกกว่า กดดันผู้ผลิตสินไทยแท้เหนื่อย รัฐบาลเพิ่งตื่นรีบควานหามาตรการสกัด สินค้าจีน ล้นทะลักจ้าละหวั่น

ไม่ว่าจะหันไปทางไหน เราก็คงจะได้เห็นสินค้าจากจีนมาวางขายเรียงรายให้เห็นกันอยู่เกลื่อน หรือแม้แต่ในแอปฯ ช้อปปิ้งออนไลน์ที่เดี๋ยวนี้จะหาร้านคนไทยนั้นแทบจะไม่มี หรือถึงจะเป็นร้านคนไทยแต่ก็ขายสินค้าที่นำเข้ามาจากจีนกันทั้งนั้น แต่ที่เป็นประเด็นจุดกระแสนี้ขึ้นมาก็จะมาจากข่าวคราวเรื่องของ “กางเกงช้าง” ที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ากางเกงลายช้างที่ถือเป็น Soft Power ของไทย แต่บริษัทในจีนดันได้ผลิต และส่งมาขายยังประเทศไทยในราคาที่ถูกกว่าจำนวนมาก เป็นการฉวยโอกาสเข้ามาทุบหัวผู้ผลิตผู้ค้าในบ้านเรา ลำพังแข่งไทยด้วยกันเองก็ยากแล้ว ยิ่งเพิ่มความลำบากในการต่อสู้ในยุคค่าครองชีพสูงเข้าไปอีก

ซึ่งนายกรัฐมนตรี เและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เศรษฐา ทวีสิน ได้เคยให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ไปเมื่อตอนวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมาว่าการที่จีนผลิตกางเกงลายช้างได้ราคาถูก และส่งมาขายตีตลาดไทยทำให้คนไทยเสียดุลการค้า และเป็นเรื่องลิขสิทธิ์ด้วย เป็นการฉวยโอกาส โดยนายกฯ บอกว่าจะต้องดูเรื่องลิขสิทธิ์ รวมถึงความรวดเร็วในการฉกฉวยโอกาสทางการค้า เพราะถ้าเราช้าก็จะมีคนนำไปทำก่อน ซึ่งตรงนี้ถือเป็นบทเรียนอย่างหนึ่งที่เราจะต้องนำมาพูดคุยกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังได้เปิดเผยข้อมูลน่าตกใจด้วยว่า ในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมาไทยนำเข้าสินค้า อุปโภคบริโภคจากจีน คิดเป็นมูลค่ามากถึง 469,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% หรือ มีสัดส่วน ราว 41% ของการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมด โดยสินค้าที่จีนเข้ามาตีตลาดส่วนใหญ่ มีทั้งกลุ่มที่เป็นของกินและของใช้ในชีวิตประจำวัน อันดับ 1 มากสุดจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า มีสัดส่วนมูลค่า 43.3% รองลงมาอันดับ 2 ผักผลไม้สดและปรุงแต่ง สัดส่วนมูลค่า 10.0% อันดับ 3 เสื้อผ้าและรองเท้า สัดส่วนมูลค่า 9.3% อันดับ 4 เครื่องใช้ในบ้านและของตกแต่ง 9.1% และอันดับ 5 ของใช้ในครัวและโต๊ะอาหาร 9.0%

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ ก็อย่างเช่น กางเกงลายช้างเจ้าปัญหา จากการสำรวจในแอปฯ ช้อปปิ้งออนไลน์พบว่าหากเป็นสินค้าที่ตัดเย็บโดยฝีมือคนไทย ร้านคนไทยแท้ ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 250 บาทขึ้นไป ในขณะที่สินค้าที่มาจากจีนราคาจะมีตั้งแต่หลักสิบ ต่ำสุด 25 บาทก็มี และไปจนถึงประมาณ 150 บาท ส่วนพวกกระเป๋าถ้าสั่งซื้อจากร้านค้าจีน หรือถ้าเป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากจีนจะมีราคาขายปลีก 100 บาท แต่กระเป๋าที่ผลิตจากไทยจะขายที่ 499 บาท ในแบบสินค้าที่คล้ายกันหรือเหมือนกัน ส่วนรองเท้าที่เป็น Made in Thailand ถ้าราคาอยู่ที่ 630 บาท แต่สินค้า Made in China จะราคาอยู่ที่ 260 บาท ถูกลงเกือบครึ่งหนึ่งของสินค้าไทยเลยทีเดียว

แต่ในเรื่องของลิขสิทธิ์ลายช้างบนกางเกงช้างนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกมายืนยันแล้วว่าเป็นลายของคนไทย จดลิขสิทธิ์แล้วถูกต้องตามกฎหมาย มีโทษระบุไว้คุ้มครองสินค้าของผู้เป็นเจ้าของไอเดียหรือ “สินค้าอันมีลิขสิทธิ์” ในกรณีถ้าตรวจสอบพบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง จะมีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หากเป็นการกระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ร้านจีนเป็นเดือดเป็นร้อน ก็ยังมีขายให้ว่อน โดยเฉพาะร้านออนไลน์

นอกเหนือจากเรื่องกางเกงช้างแล้ว สินค้าอื่นๆ ในภาพรวมที่นำเข้า–ส่งออกกับจีน ถ้าเราไปดูตัวเลขการค้าจะพบว่าไทยขาดดุลการค้าให้จีน ไล่ย้อนไปถึงปี 2563 ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์พบว่าตอนนั้นไทยขาดดุลจีนแค่ 6 แสนล้านบาท แล้วเพิ่มเป็น 1 ล้านล้านบาทในปีต่อๆ มา และมาปีนี้ แค่เพียงครึ่งปีไทยขาดดุลการค้าจีนไปกว่า 6 แสนล้านบาทเทียบเท่ากับทั้งปี 2563 ซึ่งหากครึ่งปีหลังยังนำเข้าอัตราเดิมก็มีโอกาสจะขาดดุลการค้าจีน 1 ล้านล้านบาท และถ้าย้อนกลับไปอีก มูลค่าการนำเข้าจากจีนของไทย ตั้งแต่ช่วงปี 2553–2566 มีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 8.9%

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ข้อมูลด้วยว่า สินค้า 20 กลุ่มที่กำลังได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดรุนแรง เพราะมีการนำเข้าโตมากกว่า 10% เช่น เครื่องจักรกลโลหการ เครื่องจักรกลการเกษตร ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือแพทย์ เคมี แก้วและกระจก อาหารและเครื่องดื่ม เนื้อสัตว์ อัญมณีและเครื่องประดับ รองลงมาคือกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการนำเข้าขยายตัว 5–10% คือ พลาสติกและปิโตรเคมี ซึ่งในอนาคตหากผู้ผลิตไทยเสียหายจนอยู่ไม่ได้ ไทยก็ต้องพึ่งพาสินค้าจีนเป็นหลักอย่างเลี่ยงไม่ได้ แอดว่าน่ากลัวยิ่งกว่าจีนเทาอีกหนา…

กลับกันในมุมผู้บริโภค คนซื้อสินค้าราคาขายปลีก ก็จะเห็นเป็นข้อดีซะมากกว่า เพราะจะมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย และราคาถูก แต่ในโลกความจริง ผู้บริโภคกำลังเผชิญความเสี่ยงจากสินค้าที่ด้อยคุณภาพ คุณภาพต่ำ เทียบง่ายๆ ก็กางเกงช้างเลย ใส่ไม่กี่ครั้งเป้าแตก เทียบกับของไทยตามอายุราคาก็จะใส่ได้นานกว่า และประเด็นต่อมาคือไทยเสี่ยงจะเป็นแหล่งสะสมขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น จากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่นิยมซื้อจากจีน สะท้อนจากตัวเลขการจับกุมสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 – พ.ค. 2566 สมอ.ทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐานรวม 58.4 ล้านบาท ที่ยึดอายัดสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ที่มาขายในท้องตลาดและทางออนไลน์

ทางด้านนายกฯ เศรษฐา ก็ได้สั่งให้กระทรวงการคลังไปหาแนวทางสู้กับการโดนสินค้าจีนทุบตลาด โดยได้หารือกันเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการในประเทศเสียเปรียบ จนไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ โดยปัญหาที่พบมีอยู่ 3 เรื่องเรื่อง นั่นก็คือ

1.⁠ ⁠มีการสำแดงเท็จ ผ่าน Free Trade Zone ให้ต่ำกว่า 1,500 บาท เพื่อตั้งใจเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม
2.⁠ ⁠มีสินค้าราคาถูกโดยเฉพาะจากประเทศจีนทุ่มตลาดในไทยจากสินค้าออนไลน์และการเข้ามาใช้ประโยชน์จาก Free Trade Zone ที่กำหนดไว้เพื่อประโยชน์ทางอากรศุลกากรในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ
และ 3.⁠ ⁠มีการลักลอบนำสินค้าผ่านด่านศุลกากรโดยการสำแดงข้อมูลเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี

3 ข้อนี้ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ผู้ผลิต และผู้ค้ารายย่อยไทย ได้รับผลกระทบจากการไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ เนื่องจากสินค้านำเข้าส่วนใหญ่ราคาถูกกว่า เพราะได้รับการยกเว้นภาษี ทั้งยังเป็นสินค้าคุณภาพต่ำขาดการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานภาครัฐ และยังมีปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย

กระทรวงพาณิชย์เองก็ได้มีการเสนอให้กระทรวงการคลัง ทบทวนมาตรการยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับผู้ประกอบการไทย โดยปรับให้มีการเสียภาษีสินค้าออนไลน์ตั้งแต่บาทแรกเป็นต้นไป เพื่อสร้างความเป็นธรรมและให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี ส่วนการใช้ Free Trade Zone พาณิชย์มองว่ายังไม่จำเป็นต้องทบทวนนโยบาย และเงื่อนไขในการใช้สิทธิประโยชน์ใน Free Trade Zone เพราะหากเก็บภาษีตั้งแต่บาทแรกแล้วก็น่าจะแก้ปัญหาได้

ล่าสุดคุณลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการทบทวนเรื่องการยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าเพื่อรับมือกับปัญหาสินค้าจีนทะลัก โดยมี 2 แนวทางในการพิจารณา คือ

1. การปรับลดมูลค่าสินค้าที่ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าจาก 1,500 บาทลงมา
และ 2. การแก้ไขประมวลรัษฎากรในการยกเลิกการยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้านำเข้าตามกฎหมายศุลกากร เพื่อให้กรมสรรพากรดำเนินการจัดเก็บแวตนำเข้าในทุกรายการสินค้า และให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ทั้ง 2 แนวทางยังไม่ได้ข้อสรุป

เอาจริงๆ แล้วสินค้าจีนแทรกซึมเข้ามาอยู่ในตลาดบ้านเรามานานหลายยุคหลายสมัย จึงไม่แปลกที่หลายคนอาจจะมองเป็นเรื่องปกติ ยิ่งในยุคนี้แล้ว อะไรๆ ก็ขึ้นราคา ถ้าซื้อของได้ในราคาถูกก็คงจะประหยัดไปได้หลายตังค์ แต่ในระยะยาวหรืออาจจะในระยะอันใกล้นี้ ในระบบห่วงโซ่อุปทานบ้านเราเสี่ยงที่จะถูกทำลาย ที่เห็นชัดๆ ในตอนนี้อาจจะเป็นกลุ่มผู้ผลิต ค้าปลีกที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่ในท้ายที่สุด ผลกระทบก็จะตกกันมาเป็นทอดๆ และมาถึงผู้บริโภค ส่วนปลายน้ำของห่วงโซ่อุปทาน.. .ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราไม่ทำอะไรให้มันเด็ดขาด และถ้าผู้บริโภคอย่างเราๆ ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา อาจจะต้องนับถอยหลัง รอวันที่ไทยต้องพึ่งพาสินค้าจีนเต็มตัวเข้าสักวัน….

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles