นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2568 วันที่ 22 เมษายน 2568 ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานยังไม่มีวาระการพิจารณาถึงการเข้าร่วมมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายของรถไฟฟ้า สายสีเขียว ตามนโยบายรัฐบาล เนื่องจากคณะทำงานเร่งรัดการดำเนินงานในรายละเอียดนโยบายมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายที่มีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานยังไม่ได้ประชุมในรายละเอียด จึงต้องรอให้คณะทำงานชุดนี้ประชุมกันก่อน ซึ่งเดิมมีกำหนดประชุมเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 68 แต่เนื่องจากยังไม่สามารถนัดหมายประชุมกันได้ จึงได้เลื่อนออกไปก่อน
ทั้งนี้ เบื้องต้นทราบว่า สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ Digital Government Development Agency (Public Organization) (DGA) เตรียมพัฒนาระบบเคลียร์รายได้ระหว่างระบบรถไฟฟ้าแต่ละสายในแอปพลิเคชั่นทางรัฐ โดย กทม.ต้องส่งข้อมูลระบบบัตรแรบบิท (Rabbit) ที่รองรับการเดินทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีทองให้ทาง DGA นำไปเชื่อมข้อมูลในระบบ ส่วนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะส่งข้อมูลระบบ EMV (บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตทั้งไทยและต่างประเทศที่ออกภายใต้ Visa หรือ Mastercard ซึ่งมีการฝังไมโครชิป สามารถใช้ชำระเงินแบบ Contactless ได้) ซึ่งรองรับระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สีม่วง สีชมพู สีเหลือง รวมถึงระบบรถไฟฟ้าอื่นทั้งสายสีแดงและแอร์พอร์ต เรล ลิงก์
นอกจากนี้คณะทำงานของกระทรวงคมนาคมได้ให้รถไฟฟ้าทุกสายทางจัดส่งข้อมูลตัวเลขรายได้ ปัจจุบัน เพื่อเป็นฐานข้อมูลเปรียบเทียบ เมื่อดำเนินนโยบาย
ในส่วนของต้นทุนค่าจ้างเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่กทม. จ้างเดินรถ ปัจจุบันอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท/ปี แบ่งเป็น ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช – แบริ่งและช่วงสะพานตากสิน – บางหว้า ต้นทุนค่าจ้างเดินรถอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท/ปี ,ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ต้นทุนค่าจ้างเดินรถอฝ วงเงิน 6,000 ล้านบาท/ปี ปัจจุบัน กทม.จัดเก็บค่าโดยสารทั้ง 2 ส่วนที่ 15 บาทตลอดสาย โดยมีรายได้รวม 2,000 ล้านบาท หรือ ขาดทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งกทม.ใช้รายได้กทม.บริหารจัดการต้นทุน
สำหรับสายสีเขียว ส่วนหลัก ช่วงอ่อนนุช – หมอชิตและช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ – สะพานตากสิน มีสัญญาสัมปทาน กับบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ขณะนี้ รอให้ทาง BTSC จัดส่งข้อมูลมาให้กทม. จึงจะสรุปตัวเลขกันอีกที
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงการให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงเท่านั้น ยังไม่ได้ตัดสินใจว่า จะต้องของบประมาณอุดหนุนเท่าไหร่ ทั้งนี้ ยังไม่รวมหนี้งานก่อสร้างส่วนต่อขยายทั้ง 2 ส่วนอีก 55,000 ล้านบาทด้วย
กรณีเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาลนั้น ซึ่งทางรฟม. จะมีการแก้สัญญาสัมปทาน ประเด็นการจัดเก็บค่าโดยสารจากอัตราตามสัญญา เป็น สูงสุดไม่เกิน 20 บาท ส่วน รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ กทม. กำกับดูแล มี บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นผู้รับสัมปทาน ยังพิจารณาเรื่องแก้สัญญาหรือไม่ เพราะกระทรวงคมนาคมระบุว่า จะชดเชยส่วนต่างรายได้ อีกทั้งต้องไม่ลืมว่า เรื่องนี้เป็น ไม่ใช่มาตรการถาวร เป็นมาตรการที่อาศัยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่ออายุปีต่อปี เหมือนที่รัฐบาลเคยมีนโยบายให้โดยสารรถไฟฟ้าฟรีช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 ขึ้นสูงเมื่อช่วงวันที่ 25-31 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา