นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิศษ ในงาน “พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทย ให้ก้าวไกลอย่างยั่งยืน” โดยยอมรับว่า ภาวะเศรษฐกิจในประเทศในปัจจุบันยังมีปัญหาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงแตะระดับ 90% ของ GDP และมีแนวโน้มที่จะเป็นหนี้เสีย (NPL) เพิ่มขึ้นมาที่ 3.5% และหากรวมกลุ่มหนี้ที่เป็น Special mentions (SM) อีกเกือบ 5% จะเห็นว่าหนี้เสียมีโอกาสเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่เกือบ 8% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน ทำให้ชะลอการจับจ่ายใช้สอย และทำให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้เอง ได้ส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยที่ชะลอตัวตามกำลังซื้อ เพราะภาคอสังหาริมทรัพย์ ถือว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
โดยปัจจุบัน จะเห็นว่าสินค้าคงเหลือ ที่เป็นที่อยู่อาศัยในตลาดของผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย เมื่อรวมกันแล้วจะเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 2 แสนหน่วย จากสิ้นปีก่อนที่ 1.8 แสนหน่วย สะท้อนภาพของการชะลอตัวของการซื้อที่อยู่อาศัยได้ค่อนข้างชัดเจนมากขึ้น จากการที่คนที่อยากซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยส่วนใหญ่ ไม่สามารถขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยได้ และอีกกลุ่มหนึ่งที่ซื้อเพื่อการลงทุน ก็ติดปัญหาในเรื่องของเกณฑ์ LTV ทำให้ต้องใช้เงินในการซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น จึงไม่ดึงดูดให้เข้ามาซื้อที่อยู่อาศัย
อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะขอให้มีการพิจารณาทบทวนเกณฑ์ LTV ให้สอดคล้องกับสภาวะในปัจจุบัน ที่การซื้อที่อยู่อาศัยในตอนนี้ ไม่มีใครซื้อเพื่อการเก็งกำไร หรือการ search for yield ในภาวะแบบนี้แล้ว ซึ่งผู้กำกับดูแลทางการเงิน ควรที่จะมีการทบทวนในเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน อีกทั้ง ธนาคารพาณิชย์ควรหันมาช่วยเหลือประชาชนมากขึ้น เพราะปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ของไทยมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งมาก แต่คนที่กำลังอ่อนแอ คือ ประชาชน ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นอยากให้มองย้อนกลับไปสมัยปี 2540 ในช่วงเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง สถาบันการเงินต่าง ๆ ในประเทศล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก และสถาบันการเงินที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจมาได้จนถึงปัจจุบัน ก็มาจากความช่วยเหลือของประชาชนที่ฝากเงินไว้กับสถาบันการเงินเหล่านั้น
ขณะเดียวกัน เห็นว่ากำลังซื้อจากต่างชาติ ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยฟื้นอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยได้ แต่ยังคงติดขัดในความเชื่อเดิมเกี่ยวกับการให้ชาวต่างชาติครอบครองที่ดิน แต่มองว่าแนวทางที่จะก้าวผ่านความเชื่อเดิมดังกล่าวนั้น รัฐบาลมีแนวทางที่เป็นการให้สิทธิการใช้ที่ดิน หรือเรียกว่า “ทรัพย์อิงสิทธิ” เพื่อให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย มีความรู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่การเช่าอยู่ แต่ยังคงต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบในการอยู่อาศัยที่มีกำหนดอย่างชัดเจน และเสียภาษีที่มีอัตราสูงกว่าคนในประเทศ แต่ยังสามารถปล่อยเช่าช่วงได้ แม้ว่าไม่มีกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของที่ดิน แต่มีสิทธิการใช้ที่ดิน ซึ่งจะขจัดปัญหาการจดทะเบียนของชาวต่างชาติในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ไทยออกไป ทำให้เป็นการนำสิ่งที่กระทำอยู่ใต้ดิน ขึ้นมาบนดินอย่างถูกต้อง และขยายระยะเวลาการถือครองของชาวต่างชาติเป็น 99 ปี เพื่อช่วยผลักดันให้เกิดความน่าสนใจในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยมากขึ้น