นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วง เทศกาลกินเจ ปี 2567 และความคิดเห็นต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งสำรวจระหว่างวันที่ 17 – 23 ก.ย. จำนวนทั้งสิ้น 1,265 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า ประชาชนที่ตอบว่าไม่กินเจ อยู่ที่ 63.9% กินเจ 36.1% ซึ่งกลุ่มผู้กินเจ เป็นเพราะตั้งใจทำบุญ 20.2% ลดการกินเนื้อสัตว์ 17.0% ส่วนไม่กินเจเป็นเพราะอาหารเจแพง 26.1% ไม่มีเชื้อสายจีน 23.6% เศรษฐกิจไม่ดี 12.1% โดยมีมูลค่าการเดินทางไปทำบุญเฉลี่ย 4,523.30 บาทต่อ 2-3 วันต่อทริป หรือทำบุญเฉลี่ย 2,081.61 บาทต่อคน
โดยบรรยากาศกินเจปีนี้ มีความใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ซึ่งปีนี้จะมีการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจ อยู่ประมาณ 45,003 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับปี 66 ที่มีค่าใช้จ่าย 44,558 ล้านบาท แต่ถือว่าสูงสุดนับตั้งแต่เกิดโควิด-19 เมื่อปี 2562
ทั้งนี้คนส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยอยู่ ภาพจึงไม่ต่างจากเดิม ตัวเลขบวกขึ้นมาเพียง 1% สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่มองว่ายังไม่ดีขึ้น แม้มีการแจกเงินเข้ามา แต่ไม่ได้ช่วยในช่วงเทศกาลกิจเจมากนัก เพราะกลุ่มผู้กินเจอาจยังไม่ได้รับเงิน 1 หมื่นบาทนี้ โดยคนมองว่าเศรษฐกิจยังแย่กว่าปี 2566 รวมถึงเศรษฐกิจยังนิ่งๆ ทรงตัว และซึมลงกว่าเดิม