แบงก์ชาติยันชัดเจน ยังไม่มีอะไรน่าห่วงกับภาวะหนี้เสียลามเข้าธุรกิจรายใหญ่ในไทย

127
0
Share:
แบงก์ชาติ ยันชัดเจน ยังไม่มีอะไรน่าห่วงกับภาวะ หนี้เสีย ลามเข้า ธุรกิจรายใหญ่ ในไทย

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ กล่าวว่า หนี้เสียของธุรกิจรายใหญ่ในประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อ 500 ล้านบาทขึ้นไปนั้น บางส่วนมาจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพของธุรกิจในต่างประเทศ และปัจจุบันลูกหนี้ดังกล่าวยังสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติตามสัญญา แต่การที่ธนาคารพาณิชย์มีการจัดชั้นเชิงคุณภาพลูกหนี้ไปอยู่ในกลุ่มลูกหนี้เสีย ถือว่าเป็นไปตามเกณฑ์ตามเกณฑ์ของ SICR หรือการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ กล่าวยกตัวอย่างว่า ผลประกอบการด้อยลง internal credit rating ปรับลดลง หรือลูกหนี้อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของธนาคารพาณิชย์ แม้ว่าลูกหนี้รายนั้นจะยังสามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งเหล่านี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานบัญชี T9 ที่กลับมาใช้ตั้งแต่ ม.ค. ปี 2567 ภายหลังสิ้นสุดมาตรการผ่อนปรนของแบงก์ชาติ ดังนั้น สภาพหนี้ในกลุ่มระยะที่ 2 หรือสินเชื่อที่ค้างชำระแต่ไม่เกิน 90 วัน และในกลุ่มระยะที่ 3 ที่เรียกว่าหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา จึงเป็นสิ่งที่ถูกคาดการณ์ตามการกลับมาของการบังคับใช้เกณฑ์ SICR เต็มรูปแบบ

ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน แบงก์ชาติ นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์กล่าวว่า ไม่ใช่สัญญาณที่น่ากังวล แต่ก็ต้องติดตามแนวโน้มคุณภาพสินเชื่อและภาวะเศรษฐกิจในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกันกับ พอร์ตสินเชื่อธุรกิจโดยรวมที่หนี้เสียปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 2.64% จากสิ้นปี 2566 ที่ 2.57% ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2565

ส่วนหนึ่งมาจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพในธุรกิจขนาดใหญ่ในต่างประเทศ ประกอบกับหนี้เสียของธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาทปรับเพิ่มขึ้น หลักๆ มาจากธุรกิจการพาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีที่ขนาดเล็ก ซึ่งมีความเปราะบางและอยู่ภายใต้ หรือเคยได้รับความช่วยเหลือของธนาคารพาณิชย์

“หนี้เสียที่ทยอยเพิ่มขึ้น ยังมาจากสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่ปล่อยใหม่ในช่วงโควิด แต่จะไม่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ ยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมต่อเนื่องจากมาตรการแก้หนี้ยั่งยืน”

ทั้งนี้ สถานการณ์หนี้เสียของธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทย ที่มียอดขายเกิน 500 ล้านบาทขึ้นไป พบว่า หนี้เสียกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.14% จากที่เคยอยู่ในระดับ 1.09% จากสิ้นปีที่ผ่านมา ด้านหนี้เสียของธุรกิจที่มียอดขายต่ำกว่า 500 ล้านบาทนั้น มีหนี้เสียอยู่ที่ 6.88% เพิ่มขึ้นจาก 6.72% จากสิ้นปี 2566 สำหรับสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ SM เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.73% จาก 3.49% จากสิ้นปีผ่านมา