แก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำยอดหลอกคนไทยกว่า 6 ล้านครั้ง คนถูกหลอกเสียหายกว่า 1,500 ล้านบาท

434
0
Share:
แก๊งคอลเซ็นเตอร์

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกรายงาน Bi-monthly PAYMENT INSIGHT ฉบับที่ 14/2565 เรื่อง Financial Fraud : กลโกงทางการเงินใกล้ตัวกว่าที่คิด โดยเปิดสถิติ Financial Fraud หรือการหลอกลวงทางการเงินในปี 2564 โดยได้ระบุว่า พบการโทรศัพท์เพื่อหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (call center) ทั้งสิ้น 6.4 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปี 2563 สูงถึง 270% และพบการส่งข้อความ SMS หลอกลวงทางการเงินเพิ่มขึ้นถึง 57% จากระยะเดียวกันปีก่อน
.
ด้านผลการสำรวจของสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา จากประชาชน 1,221 ตัวอย่าง พบว่า คนไทย 21% เคยเจอแก๊ง call center โทรมาด้วยตนเอง ขณะที่ 32.9% ระบุว่า คนที่รู้จักเคยเจอแก๊ง call center โทรมา ขณะที่อีก 40.2% ระบุว่า พบเห็นจากสื่อต่างๆ และ ธปท.ยังได้เปิดเผยมูลค่าการฉ้อโกงธุรกรรมการชำระเงิน ซึ่งสถาบันการเงินดำเนินการพิสูจน์แล้วถึงที่สุดว่ามีการเกิดการฉ้อโกงขึ้นจริง ตั้งแต่ปี 2561-2564 พบว่า มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ และส่วนใหญ่เป็นการฉ้อโกงผ่านการใช้โทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตเพื่อหลอกลวง โดยปี 2561 มีมูลค่า 600-700 ล้านบาท ปี 2562 มีมูลค่า 1,200 ล้านบาท
.
สำหรับในปี 2563 มีมูลค่า 700 ล้านบาท และปีที่ผ่านมา อยู่ที่มากกว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่ง ธปท.ติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และหากประชาชนมีข้อสงสัยในเรื่องการถูกหลอกลวง ทางการเงินในประเภทต่างๆสามารถสอบถาม ปรึกษา หรือร้องเรียนได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. โทร. 1213
.
ในรายงานดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า มีการโทรและส่งข้อความหลอกลวงเพิ่มขึ้นในทั่วโลก โดยประเทศไทยไม่ใช่ที่เดียวที่ประสบปัญหาการโทรและข้อความหลอกลวงทาง SMS จากมิจฉาชีพ โดย Whoscall anti-fraud application Developed by Gogolook ระบุว่า ปีที่ผ่านมา จำนวนการโทร.และข้อความหลอกลวงทั่วโลกสูงถึง 460 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 58% จากปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19
.
ทั้งนี้ ธปท. ได้ออกคำเตือนล่าสุด ระบุว่าจากที่มีการแอบอ้างเชิญชวนให้มารวมตัวยื่นเอกสารที่ ธปท. เพื่อแก้หนี้ ขอให้อย่าหลงเชื่อ เนื่องจาก ธปท. ไม่สามารถแก้หนี้ให้ประชาชนโดยตรงได้ ขอให้ติดต่อปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินที่มีหนี้สินอยู่ รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ ตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาวที่ออกไปในช่วงก่อนหน้า