กกพ.แง้มค่าไฟ ก.ย. – ธ.ค.นี้มีลดอย่างน้อย 20 สต. เอกชนสวนแอลเอ็นจีลงก็ควรลดที่ 50 สต.

246
0
Share:
กกพ. แง้ม ค่าไฟ ก.ย. – ธ.ค.นี้มีลดอย่างน้อย 20 สต. เอกชนสวนแอลเอ็นจีลงก็ควรลดที่ 50 สต.

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เผยข่าวดีเกี่ยวกับค่าไฟงวดใหม่ว่าที่คำณวนจากต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ในงวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 66 มีแนวโน้มลดลงไม่ต่ำกว่า 20 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนจะมากกว่านี้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่จะพิจารณาจากเหตุผลต่างๆ ควบคู่กันในเดือน ก.ค.นี้ สำหรับราคานี้มาจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่มาจากก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะแอลเอ็นจีที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และได้มีการผนวกรวมการใช้หนี้คืนแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ราว 2 หมื่นล้านบาทต่องวด จากที่ กฟผ. รับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าให้แก่ระบบ เพื่อชะลอการกระชากขึ้นของค่าไฟฟ้าในงวดที่ผ่านมารวมกว่า 1.3 แสนล้านบาท

ข้อมูลประมาณการณ์คำนวณค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 66 ที่ได้รับจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พบว่า ราคาแอลเอ็นจีตลาดจร (LNG Spot) เฉลี่ยอยู่ที่ 13.295 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และราคา POOL GAS ที่เป็นราคาคำนวนรวมระหว่างก๊าซอ่าวไทย เมียนมา และแอลเอ็นจีจะอยู่ที่ราว 343 บาทต่อล้านบีทียู ขณะที่ปริมาณก๊าซในอ่าวไทย โดยเฉพาะแหล่งเอราวัณ (จี1/61) มีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าเดือน ก.ค. 66 จะมีกำลังผลิตที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันที่ระดับ 200 ล้านลูกบาศกก์ฟุตต่อวัน สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 588 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

นอกจากนี้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศมีหน่วยเพิ่มขึ้นตามธุรกิจการท่องเที่ยว และต้องพิจารณาถึงเงินบาท โดยการอ่อนค่าลงอยู่ที่ประมาณ 34.79 บาทต่อดอลลาร์ ก็มีผลทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าพุ่งขึ้น

ในส่วนของการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในเรื่องค่าไฟฟ้างวดใหม่ ที่จะมีส่วนลดสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300–500 หน่วยต่อเดือนอีกหรือไม่นั้น เรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของ กกพ. เป็นอำนาจของ ครม. ที่หากพิจารณาว่ามีความจำเป็นและเป็นรอยต่อรัฐบาล ก็สามารถเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งให้พิจารณาต่อไป

นายคมกฤช กล่าวต่อว่า สิ่งที่ยังเป็นห่วงคือค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 67 ที่แนวโน้มราคานำเข้าแอลเอ็นจีจะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มสภาพอากาศของยุโรป ก็อาจจะส่งผลทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้างวดถัดไปกลับขึ้นมาอีกครั้ง ขณะที่ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปี 67 จะต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับราคาแอลเอ็นจีด้วยว่าจะลดลงหรือไม่ เพราะปริมาณก๊าซในอ่าวไทยและเมียนมาลดลง ไทยต้องพึ่งพาแอลเอ็นจีมากขึ้น

และในกรณีที่พรรคก้าวไกลหาเสียงไว้ว่าอยากเห็นค่าไฟฟ้าลดลงไม่ต่ำกว่า 70 สตางค์ต่อหน่วยนั้น นายคมกฤชมองว่าหากจะดำเนินการก็ต้องปรับโครงสร้างราคาก๊าซทั้งระบบ และนำเรื่องแอลเอ็นจีมาอยู่ใน POOL GAS ทั้งหมด เพราะในอนาคตไทยขจะต้องพึ่งพาก๊าซส่วนนี้มากขึ้น

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าจากการดูต้นทุนก๊าซและการใช้หนี้ กฟผ. แล้ว ค่าไฟฟ้าน่าจะลดลงได้ไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจากค่าไฟในขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย เนื่องจากแอลเอ็นจีลดลงกว่า 20 เหรียญต่อล้านบีทียู หรือเหลือราว 11 เหรียญต่อล้านบีทียู ดังนั้นหากจะลดแค่ 20 สตางค์ จะดูน่าเกลียด ส่วนการลดค่าไฟตามแนวคิดพรรคก้าวไกลนั้น ทางพรรคมีแนวคิดจะออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อมาเสริมสภาพคล่องให้ กฟผ. และปรับลดค่าไฟฟ้า AP ซึ่งส่วนตัวแล้วก็สนับสนุนเพื่อทำให้ต้นทุนต่ำลง