กกร. คาด กนง. จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง รวม 0.50% กดให้ดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบลดลง

99
0
Share:

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในการประชุม กกร. วันนี้ (3เม.ย.) ว่าตอนนี้ตลาดมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินมีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยลงในการประชุมครั้งถัดไป โดยคาดว่าอาจมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวมเป็น 0.50% ในปีนี้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอดูผลการพิจารณา

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)หวังว่า กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยลง เพราะเข้าสู่ช่วงขาลงของดอกเบี้ยแล้ว ขณะนี้สัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็ไม่มีแล้ว และคาดว่าจะมีการประกาศลดดอกเบี้ยลงตั้งแต่ครึ่งหลังของปี คือตั้งแต่เดือนมิถุนายน ซึ่งเฟดเคยส่งสัญญาณว่าจะลดถึง 3 ครั้ง แต่ทว่าต้นปีนี้เศรษฐกิจของสหรัฐยังแข็งแกร่งมา เฟดจึงยังไม่ลดดอกเบี้ยลงเร็วตามที่เฟดคาด แต่มั่นใจว่าต่อจากนี้ไปจะเป็นช่วงขาลงของดอกเบี้ยทั้งอังกฤษ ยุโรป จากการกระตุ้นเศรษฐกิจยกใหญ่ ทุกคนต้องฟื้นตัว ต้นทุนดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME การลดดอกเบี้ยเพียง 0.25% หรือ 0.50% มีความหมายมาก ช่วย SME ได้เยอะ ช่วยให้เขารอดตายได้ และนอกจากนี้ SME ยังประสบปัญหาเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน เนื่องจากผู้ให้กูเองก็มีความหวาดกลัว ไม่มั่นใจจึงไม่อนุมัติ ทำให้ SME หลายรายต้องไปกู้นอกระบบ ซึ่งหากดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบลดลง นอกระบบก็ต้องลดตามไปด้วย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้ SME ได้จำนวนมาก

ส่วนราคาน้ำมันดีเซลที่จะเพิ่มขึ้น หลังหมดอายุมาตรการอุดหนุน จะส่งผลต่อต้นทุนการขนส่งของภาคเอกชนทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงประมาณ 15% ของต้นทุนทั้งหมด แต่ก็เข้าใจว่ากองทุนน้ำมันขณะนี้ติดลบกว่าแสนล้านบาท คงไม่สามารถตรึงราคาดีเซลต่อไปได้มากกว่านี้ แต่ภาคเอกชนก็อยากเรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการอื่น มาช่วยเหลือ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน เพื่อรื้อโครงสร้างพลังงาน จะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ใน 10 จังหวัดนำร่อง ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. 2567 ว่าไม่ได้ขัดข้องเพราะเชื่อว่าทุกฝ่ายเข้าใจรัฐบาล และอยากเห็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานมีรายได้สูงขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูว่า เราขะสามารถจ่ายไหวหรือไม่ โดยเฉพาะ SME จึงอยากให้รัฐบาลฟังเสียงจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะภาคโรมแรม ที่อาจจะมีเสียงสะท้อนมา เพื่อหามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่อาจได้รับผลกระทบ แต่หากจะมีการปรับค่าจ่างขึ้นหลายครั้งต่อปี แล้วทำให้เศรษฐกิจโตได้ดี เชื่อว่าทุกฝ่ายก็ยินดีพิจารณาร่วมกัน