กกร. สับเป้าส่งออกปีนี้เหลือ -2 ถึง 0% ส่วนเงินเฟ้อ 2.2-2.7% คงจีดีพีทั้งปีโต 3-3.5%

160
0
Share:
กกร. สับเป้า ส่งออก ปีนี้เหลือ -2 ถึง 0% ส่วนเงินเฟ้อ 2.2-2.7% คงจีดีพีทั้งปีโต 3-3.5%

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2566 โดยยังคงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้ไว้ตามเดิมที่ 3.0-3.5% แต่ปรับประมาณการส่งออกปีนี้ ลดลงมาอยู่ที่ -2 ถึง 0% จากเดิม -1 ถึง 0% และปรับลดกรอบเงินเฟ้อ ลงมาอยู่ที่ 2.2-2.7% จากเดิม 2.7-3.2% เนื่องจากมองว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้น จากปัจจัยภาคการผลิตยังคงหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาคบริการเริ่มเห็นสัญญาณชะลอลงในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น นอกจากนี้ธนาคารกลางของประเทศหลักฝั่งตะวันตกมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อในช่วงครึ่งปีหลัง ภาวะการเงินตึงตัวจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อใหม่จะยิ่งกดตันภาคธุรกิจและจำกัดการใช้จ่าย นำไปสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอลงเช่นกัน และยังมีการปรับลดประมาณการณ์ตัวเลขการเติบโตชอง GDP จีนปี 2566 ลงสู่ระดับ 5.4 -5.5% จากเดิม 6% โดยปัจจัยเหล่านี้อาจฉุดการเติบโตของภาคการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ ในที่ประชุม กกร. มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวดีขึ้นที่เป็นเครื่องยนต์หลักตัวเดียวในการจะพยุงเศรษฐกิจของประเทศ จากทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่คาดว่าจะขึ้นไปถึง 29-30 ล้านคน รวมทั้งรายได้รวมจากท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นจากรายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้นด้วย กกร. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 66 ยังเติบโตได้ราว 3.0-3.5% ตามกรอบเดิมที่เคยประเมินไว้ เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนยังถูกกดดันจากค่าครองชีพ และหนี้ครัวเรือนในระดับสูงที่ 90.6% ต่อ GDP ทำให้ผู้บริโภคมีข้อจำกัด และระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

ส่วนมูลค่าการส่งออกปีนี้ ประเมินว่าจะหดตัว -2 ถึง 0% หดตัวเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมที่เคยประเมินไว้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อ แม้ยังมีความเสี่ยงจากภัยแล้ง (เอลนีโญ) และหากจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ แต่ก็ยังคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 2.2-2.7% ต่ำลงกว่าที่ประเมินไว้เดิม ตามทิศทางราคาพลังงาน

ด้านเงินบาทอ่อนค่าสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค สาเหตุจากเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่า หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มกลับมาเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 2 ครั้งในปีนี้ มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เดิม ประกอบกับเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวก็คาด จึงทำให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าชั่วคราว แต่เชื่อว่าจะทยอยกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากทิศทางดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้นของไทย และปัจจัยความไม่แน่นอนในประเทศที่คลี่คลายลง

กกร. มองว่าขณะนี้ภาครัฐควรเร่งเพิ่มเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งการเร่งการใช้จ่ายและการจัดทำงบประมาณเป็นเรื่องเร่งด่วน ดังนั้นการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้อย่างรวดเร็วและราบรื่นจึงสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้การใช้จ่ายภาครัฐไม่สะดุด จะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวท่ามกลางความเสี่ยงรอบด้าน และการลงทุนของภาครัฐจะเป็นเครื่องยนต์ตัวที่สองในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศปีนี้

ขณะเดียวกัน กกร. ยังมีความกังวลภาระต้นทุนของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับสูงมาต่อเนื่องโดยเฉพาะตันทุนค่าไฟฟ้าที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมจะพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดที่ 3/2566 (ก.ย.-ธ.ค. 66) ซึ่งหากพิจารณาจากปัจจัยที่นำมา

คำนวณค่า Ft แล้ว พบว่า มีปัจจัยบวกให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้กว่า 10% จากงวดที่ 2 (พ.ค.-ส.ค. 66)และคาดว่าไม่ควรเกิน 4.25 บาท/หน่วย จากเดิม 4.70 บาท/หน่วย เนื่องจาก

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในฐานะภาคเอกชนมองว่าหากมีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว ตามไทม์ไลน์คือแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้ จะสามารถฟื้น ความเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ที่ขณะนี้ยังคงรอความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาล แต่หากยังดำเนินการล่าช้าอาจส่งผลให้นักลงทุนกลุ่มนี้ เริ่มต้นลงทุนในจุดหมายปลายทางอื่น นอกจากนี้ หากมีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ จะส่งผลบวกต่อการเริ่มต้นเบิกจ่ายงบประมาณ เริ่มการลงทุนในส่วนของภาครัฐ ให้เป็นเครื่องยนต์สำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ภาคส่งออกสะดุด

นอกจากนี้ กกร.ยังต้องการให้ภาครัฐเร่งสนับสนุนการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ เนื่องจากปัญหาการส่งออกที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก การเปิดตลาดใหม่ๆ จะสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในประเทศที่ยังขยายตัวได้ดี เช่น จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เพื่อทดแทนการส่งออกในประเทศหลัก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่อ่อนแอลง นอกจากนี้ ภาครัฐควรเร่งผลักดันการเจรจา FTA เพื่อเปิดตลาดใหม่และเพิ่มโอกาสทางการแช่งขันให้กับผู้ส่งออกไทย