กทพ.เล็งเจรจาขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนอีก 22 ปี 5 เดือน แลกสร้าง Double Deck

นายประสงค์ สีสุกใส ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) เปิดเผยว่า ตามที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้ กทพเจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานระบบทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 ลงทุนโครงการก่อสร้างทางพิเศษในอนาคต (Double Deck) และลดอัตราค่า ทางด่วน เหลือ 50 บาท โดยแลกกับการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนจากเดิมสิ้นสุดปี 2578 และลดส่วนแบ่งรายได้ระหว่าง กทพ.กับเอกชน จากปัจจุบันสัดส่วน กทพ. 60 เอกชน 40 เหลือสัดส่วน 50 ต่อ 50 ซึ่งเรื่องนี้ทำให้พนักงาน และลูกจ้าง กทพ.มีความวิตกกังวัลว่าการปรับลดส่วนแบ่งรายได้จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของ กทพ.ลดลง

โดยเมื่อวันที่ 29 .. 2567 สร.กทพ.ได้เดินทางไปยื่นหนังสือและขอเข้าพบนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อขอคำแนะนำการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน ว่าควรจะต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อ กทพ. และในส่วนของพนักงาน และลูกจ้างควรจะต้องทำอย่างไรเพื่อรักษาประโยชน์ขององค์กรไว้

ทั้งนี้ จากความกังวัลดังกล่าว นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. ได้จัดโครงการผู้บริหารระดับสูงพบพนักงานและลูกจ้าง กทพ.” เมื่อวันที่ 5 มิ..ที่ผ่านมา โดยเชิญรองผู้ว่าการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ เข้าร่วมประชุมชี้แจงเหตุผลและรายละเอียดการก่อสร้างทางพิเศษ Double Deck เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีให้พนักงานและลูกจ้าง กทพ. และเปิดโอกาสให้ซักถามและเสนอแนะประเด็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนใหญ่จะสอบถามผู้บริหารถึงการก่อสร้างทางพิเศษ Double Deck แลกกับการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนออกไปกี่ปี และการลดค่าทางด่วนเหลือ 50 บาท จะทำให้รายได้ของ กทพ.ลดลง

ซึ่งนายสุรเชษฐ์ชี้แจงว่า เรื่องสัมปทานต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกการลงทุนก่อสร้างทางพิเศษ Double Deck เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งกทพ.เจรจากับเอกชน ขยายสัญญาสัมปทานออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน โดยนับต่อจากวันสิ้นสุดสัญญาเดิม ปี 2578 ซึ่งจะทำให้สัญญาสัมปทานกรณีมีการลงทุน Double Deck ไปสิ้นสุดในปี 2601

ส่วนที่ 2 เรื่องการลดค่าทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ไม่เกิน 50 บาทตลอดสาย สำหรับรถ 4 ล้อ ซึ่งจะมีการยกเลิกด่านเก็บค่าผ่านทาง 2 แห่ง คือที่ด่านอโศก 3 ฝั่งขาออก มุ่งหน้าศรีนครินทร์ และด่านประชาชื่น ฝั่งขาออก มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ กรณีนี้เอกชนแจ้งว่าจะทำให้บริษัทสูญเสียรายได้จากการยกเลิก 2 ด่าน รวมกันประมาณ 1,200-1,300 ล้านบาทต่อปี โดย กทพ.จะต้องชดเชยรายได้ส่วนที่หายไป ดังนั้น จึงเสนอให้มีการลดรายได้ส่วนแบ่งจากปัจจุบัน 60-40 เหลือ 50-50 นับตั้งแต่วันที่เริ่มลดค่าทางด่วน สำหรับรายละเอียดแต่ละส่วนนั้นยังไม่ได้สรุปชัดเจนว่าจะเอาหรือไม่เอา อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงส่วนใดส่วนหนึ่ง ทั้งนี้จะต้องเสนอกระทรวงคมนาคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ครม.พิจารณาเห็นชอบก่อน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles