กรมการค้าภายในยืนยันค่าไฟไม่กระทบราคาสินค้า ชี้ต้นทุนค่าไฟลดลง สินค้าส่วนใหญ่ทรงตัว

222
0
Share:
กรมการค้าภายใน ยืนยัน ค่าไฟฟ้า ไม่กระทบ ราคาสินค้า ชี้ต้นทุนค่าไฟลดลง สินค้าส่วนใหญ่ทรงตัว

ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาค่าไฟฟ้า ที่หลายฝ่ายมองว่าแพงขึ้น เพราะมีการใช้ฟ้ามากขึ้น และกังวลว่าจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น กรมฯ ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ต้นทุนค่าไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค. จะลดลงเหลือ 4.77 บาทต่อหน่วย ลดลงจากงวด ม.ค.-เม.ย. ที่ราคา 5 บาทกว่าต่อหน่วย

ซึ่งต้นทุนค่าไฟลดลง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวโน้มว่าจะพิจารณาปรับลดราคาลงอีก หากลดลงจริง ก็จะทำให้ต้นทุนค่าไฟลดลงอีก ดังนั้น ผลกระทบจากค่าไฟฟ้าต่อต้นทุนสินค้า ไม่น่าจะเพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนอื่น ๆ ทั้งราคาน้ำมัน และวัตถุดิบ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับลดลงต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนสินค้าไม่เพิ่ม แต่ก็มีต้นทุนค่าแรงงาน ที่เป็นปัจจัยต้องจับตา แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการ จะบริหารจัดการได้ เพราะส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้าอยู่แล้ว และมีความตั้งใจที่จะไม่ปรับขึ้นราคา หากต้นทุนไม่เพิ่มขึ้นจนรับไม่ไหว เพื่อกระตุ้นยอดขาย และช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน โดยขณะนี้ การขอปรับขึ้นราคาสินค้าเบาลง ส่วนใหญ่เป็นการขอตั้งราคาสินค้าใหม่ เพราะมีการเปลี่ยนรส เปลี่ยนกลิ่น ซึ่งกรมฯ พิจารณาแล้ว ให้ตั้งราคาเดิม

สำหรับสถานการณ์ราคาสินค้ากลุ่มอาหารสด ราคาทรงตัวใกล้เคียงกับสัปดาห์ก่อน โดยหมูเนื้อแดงราคาเฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัม (กก.) ละ 152 บาท ไก่น่องติดสะโพก กก.ละ 76 บาท น่องไก่ กก.ละ 78 บาท สะโพกไก่ กก.ละ 81 บาท อกไก่ กก.ละ 79 บาท และไข่ไก่เบอร์ 3 ฟองละ 3.80 บาท ซึ่งราคาอยู่ในช่วงที่กรมฯ ได้กำกับดูแล และสอดคล้องกับภาวะต้นทุน แม้ว่าความต้องการบริโภคจะเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตก็มีเพียงพอ ทั้งที่ขณะนี้เป็นช่วงหน้าร้อน

สำหรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนใหญ่ราคาทรงตัวและมีการปรับลดลงหลายรายการ โดยราคาทรงตัว เช่น ข้าวสาร นมผง ซอสปรุงรส น้ำปลา น้ำตาลทราย อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ครีมอาบน้ำ น้ำยาซักผ้า ส่วนที่ลดลง เช่น ซีอิ้ว สบู่ แชมพู ผงซักฟอก เป็นต้น และยังมีการจัดโปรโมชันลดราคาในส่วนของสินค้าป้องกันความร้อน ทั้งพัดลม เครื่องปรับอากาศ และเครื่องฟอกอากาศ ที่มีหลายห้างจัดลดราคา เพื่อกระตุ้นยอดขาย และลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน

ส่วนปุ๋ยเคมี ราคาลดลงต่อเนื่อง ตามต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง และความต้องการตลาดโลกที่ลดลง