กรมรางออกมาตรการ 5 ข้อคุมระบบรถไฟ-รถไฟฟ้า

625
0
Share:

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการ ขนส่งทางราง(ขร.)เปิดเผยว่า ขร.ได้ออกประกาศกรมการขนส่งทางรางเรื่อง มาตรการพึงปฏิบัติการจัดการระบบขนส่งทางราง ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ ทั่วราชอาณาจักรเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID – 19) (ฉบับที่ 4) ตามที่รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศดังกล่าวออกไปจนถึง 31 พ.ค.2563
.
โดยนายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดเป็นการทั่วไปและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย (ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 15 พ.ค.63 เพื่อผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เพิ่มเติมจากที่เคยผ่อนคลายไว้แล้วเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน ภายใต้เงื่อนไขว่ายังคงให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคและคำแนะนำของทางราชการต่อไปโดยเคร่งครัด และห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถาน ระหว่างเวลา 23.00น.- 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น กรมการขนส่งทางรางจึงประกาศมาตรการพึงปฏิบัติ การจัดการระบบขนส่งทางราง เพื่อขอความร่วมมือผู้ให้บริการระบบขนส่งทางราง ทั้งรถไฟและรถไฟฟ้าปฏิบัติเพิ่มเติม คือ
.
1.ดำเนินการเปิดให้บริการให้สอดคล้องตามข้อกำหนดโดยสมควรเปิดให้บริการเดินระบบรถไฟและรถไฟฟ้า ระหว่างวันภายหลังเวลา 04.00 น.โดยปิดให้บริการ ณ สถานีปลายทางในเวลา 22.30น.โดยประมาณ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้โดยสารให้สามารถกลับถึงเคหสถานก่อนเวลา 23.00 น.
.
2.บริหารจัดการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารให้เพียงพอสอดคล้องกับปริมาณความต้องการเดินทางในแต่ละวัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น ควบคู่กับการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ภายในสถานีและในขบวนรถอย่างเคร่งครัด
.
3.เพิ่มความเข้มงวดในการดูแลรักษาสภาพรถ สภาพทาง และอุปกรณ์ เพื่อมิให้เกิดความขัดข้องในการบริการและให้มีแผนปฏิบัติการรองรับกรณีเกิดเหตุขัดข้องหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมทั้งประสานแจ้งกรมการขนส่งทางรางทันที เพื่อบูรณาการการดำเนินงานได้อย่างรวดเร็วทันการณ์
.
4.เพิ่มช่องทางในการประชาสัมพันธ์ข้อพึงปฏิบัติสำหรับผู้โดยสาร และแจ้งให้ทราบ กรณีมีเหตุขัดข้องหรือสถานการณ์ฉุกเฉินอันก่อให้เกิดความล่าช้าหรือความไม่สะดวกในการใช้บริการ เพื่อประกอบการวางแผนการเดินทางและการเผื่อเวลาในการเดินทาง
.
5.เพิ่มความเข้มข้นในการป้องกันและเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัส COVID – 19 ของผู้ปฏิบัติงานภายในสถานีและขบวนรถที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้โดยสารจำนวนมาก จะต้องสวมหน้ากากอนามัยถุงมือ หรืออุปกรณ์ป้องกันตลอดเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ พร้อมทั้งจัดทำทะเบียนข้อมูลผู้ปฏิบัติงานในแต่ละวันและช่วงเวลา สำหรับกรณีจำเป็นต้องมีการสอบสวนโรค
.
ทั้งนี้ การดำเนินการให้ถือปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2563เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 จะคลี่คลายหรือมีประกาศเปลี่ยนแปลง.