กรมสรรพากรย้ำชัด ทำไมพ่อค้าแม่ค้าโครงการคนละครึ่งต้องจ่ายภาษี

457
0
Share:
โครงการคนละครึ่ง

กรณีข่าวการเรียกเก็บภาษีจากพ่อค้าแม่ค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งนั้น กรมสรรพากรขอชี้แจงว่า กรมสรรพากรไม่ได้มุ่งเน้นจัดเก็บภาษีสำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่เข้าร่วมโครงการรัฐ ย้ำรายได้ของพ่อค้าแม่ค้าบุคคลธรรมดา ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี หากรายได้ถึงเกณฑ์ ต้องยื่นแบบภาษี ตามกฎหมายกำหนด

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า “ผู้ที่มีเงินได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการจึงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ส่วนจะมีภาษีที่ต้องชำระหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับรายได้ ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน

สำหรับการหักค่าใช้จ่าย กฎหมายให้สิทธิ์ในการเลือกว่าจะขอหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 60 หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงก็ได้ โดยหลักสำคัญของการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น หากบุคคลธรรมดามีเงินได้จากการค้าขายถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 มีหน้าที่ต้องนำรายได้ที่ได้รับในปีภาษีมายื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นปกติอยู่แล้ว

ด้านกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลดำเนินโครงการคนละครึ่งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน และส่งผ่านกำลังซื้อไปสู่ผู้ประกอบการให้มีรายได้เพิ่ม เมื่อผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้วและอยู่ในเกณฑ์เสียภาษีตามกฎหมายก็สามารถไปชำระภาษีได้ โดยฐานข้อมูลโครงการคนละครึ่งไม่ได้มีการเชื่อมต่อระบบกับกรมสรรพากร เพื่อตรวจสอบรายได้แต่อย่างใด ซึ่งสำหรับโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ได้สิ้นสุดโครงการเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ใช้สิทธิ 26.27 ล้านราย และยอดการใช้จ่ายรวม 61,835.1 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งระยะที่ 4 จำนวน 1.36 ล้านราย โดยเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ 2.98 หมื่นราย แสดงให้เห็นถึง ความร่วมมือของประชาชนและผู้ประกอบการที่มีส่วนช่วยส่งเสริมการบริโภคในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การผลิต และการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน และส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องต่อไป