กรมสุขภาพจิต ประกาศยุติบทบาททูตด้านสุขภาพจิตของ อแมนด้า ออบดัม

641
0
Share:

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีกรมสุขภาพจิตยุติการมอบหมาย น.ส.อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 เป็นทูตด้านสุขภาพจิต ตามที่กรมสุขภาพจิตและกองประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ได้เคยมีการตกลงความร่วมมือด้านการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์งานด้านสุขภาพจิตของกระทรวงสาธารณสุขนั้น
.
ทางกรมสุขภาพจิตได้รับทราบถึงข้อกังวลของประชาชนต่อการมอบหมายภารกิจด้านสุขภาพจิตแก่ น.ส.อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม เจ้าของตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งภารกิจทูตด้านสุขภาพจิตเป็นเพียงหน้าที่และภารกิจการช่วยเหลืองานด้านสุขภาพจิตเท่านั้น ซึ่งมีหน้าที่ได้แก่
.
1.ส่งเสริมภาพลักษณ์การทำงานด้านสุขภาพจิต
.
2.ประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อช่วยให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดี
.
3.ปฏิบัติงานจิตอาสากรมสุขภาพจิต
.
4.ขยายเครือข่ายจิตอาสาเพื่อสร้างกระแสการเป็นผู้รับฟังที่ดี
.
ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตได้มีเป้าหมายในการสร้างความสุขให้แก่ประชาชนและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ดี กรมสุขภาพจิตรับทราบถึงความกังวลใจของประชาชนในขณะนี้ และไม่สามารถดำเนินภารกิจที่อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งและสร้างความไม่สบายใจแก่ประชาชนในสังคมได้ จึงได้มีการปรึกษาหารือกับกองประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์และรับทราบร่วมกันถึงความกังวลใจของประชาชน ทางกรมสุขภาพจิตจึงขอยุติบทบาทภารกิจทูตด้านสุขภาพจิตดังกล่าวตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
.
โดยเหตุที่เกิดขึ้นคาดว่ามาจากปัจจัยทางด้านปัญหาการเมือง เนื่องจากก่อนหน้านี้ น.ส.อแมนด้าได้มีการโพสต์ข้อความ “ขอโทษที่ช้าค่ะ แต่มาแล้วนะ วันนี้ยุ่งมากจริงๆค่ะ ออกสื่อทั้งวันอยากจะเข้าใจสถานการณ์ทั้งหมดจริงๆ ก่อนจะโพสอะไรออกไปนะคะ นี่คือสิ่งที่ด้าสนับสนุนค่ะ
.
1. ประชาธิปไตย // 2. หลักการสิทธิมนุษยชนคือหัวใจ หลักในการปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ // 3. ต่อต้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ // 4. เสรีภาพโนการพูดบนพื้นฐานของความจริง 5. ความเท่าเทียมกันของทุกคน // Be safe everyone”
.
ขณะที่ ด.ร.เสรี วงษ์มณฑา ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันทิศทางไทย นักวิชาการชื่อดังด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึง อแมนด้า ที่สนับสนุนการชุมนุมของม็อบ เช่นเดียวกับ นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเห็นว่า การจะประกาศแต่งตั้งใครให้เป็น “ทูตกิตติมศักดิ์” ในตำแหน่งสาขาด้านใดด้านหนึ่ง บุคคลนั้นจะต้องมีประวัติและพฤติกรรมที่ เคลียร์ สมเป็นตัวแทนประเทศจริงๆ แต่ถ้าไปเอาคนที่ประวัติและพฤติกรรมไม่เคลียร์มาเป็น “ทูตกิตติมศักดิ์” แล้ว ดันมีคนไปขุดคุ้ยเจอเรื่องราวการแสดงออกทั้งวาจาและคำพูดของบุคคลนั้นๆ ซึ่งไม่เหมาะสมกับการเป็น บุคคลสาธารณะ (public figure) เพราะบุคคลนั้นๆขาดการไตร่ตรอง ไม่มองให้รอบด้าน ไม่เป็นกลาง หรือใช้ fake news นำไปเผยแพร่ขยายความเพื่อประจานประเทศตัวเอง ก็ย่อมก่อให้เกิดปัญหาขัดแย้งทางสังคมตามมาอย่างช่วยไม่ได้ ! แบบนี้ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ทำให้คนที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยทะเลาะกันวุ่นวายจน “เสียสุขภาพจิต” กันไปหมด นี่เป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างดีว่าตำแหน่งกิตติมศักดิ์ที่งุบงิบยัดเยียดแต่งตั้งกันเพื่อหวังผลประดับ profile ของบุคคลนั้นๆ fail ไม่สง่างามและไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
.
อย่างไรก็ตามการถูกยุติบทบาทในครั้งนี้กระแสในโซเชียลส่วนหนึ่งก็ไม่เห็นด้วย เช่นเพจ Drama-addict ได้ระบุถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า “โคตรไม่เห็นด้วยกับกรมสุขภาพจิต คือของอแมนด้า เขาไม่ได้ทำไรไม่เหมาะสมนะ เขาแสดงจุดยืน แล้วแสดงท่าทีว่าไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง ซึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการปฎิบัติหน้าที่ทางด้านสุขภาพจิต และเขาก็ให้ความร่วมมือกับการเผยแพร่ความรู้ทางจิตเวชมาตลอด”